หน่วยที่ 3


หน่วยที่ 3 การสื่อสารเพื่อการเรียนการสอน
 1.ความหมายรูปแบบและชนิดของการสื่อสาร
ความหมายของการสื่อสาร 
            คำว่า  การสื่อสาร (communications)  มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า  communis หมายถึง  ความเหมือนกันหรือร่วมกัน   การสื่อสาร (communication)    หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร  ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์  ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสารโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน สัญลักษณ์อื่นใด การแสดงหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปยังผู้รับสาร ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม หรือความจำเป็นของตนเองและคู่สื่อสาร  โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน  บริบททางการสื่อสารที่เหมาะสมเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล
บริบททางการสื่อสาร
 ความสำคัญของการสื่อสาร 
การสื่อสารมีความสำคัญดังนี้ 
1.  การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกเพศ  ทุกวัย ไม่มีใครที่จะดำรงชีวิตได้ โดยปราศจากการสื่อสา ทุกสาขาอาชีพก็ต้องใช้การสื่อสารในการปฏิบัติงานการทำธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลาพัฒนาการทางสังคมจึงดำเนินไปพร้อมๆ กับพัฒนาการทางการสื่อสาร 
2.  การสื่อสารก่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลและสังคมช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนในสังคมช่วยสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีสะท้อนให้เห็นภาพความเจริญรุ่งเรือ วิถีชีวิตของผู้คน  ช่วยธำรงสังคมให้อยู่ร่วมกันเป็นปกติสุขและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 
3.  การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทั้งตัวบุคคลและสังคมการพัฒนาทางสังคมในด้านคุณธรรม จริยธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ รวมทั้งศาสตร์ในการสื่อสารจำเป็นต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ 
2.องค์ประกอบ และ ช่องทางของการสื่อสาร
2.1 องค์ประกอบของการสื่อสาร
องค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อสาร มี 4 ประการ ดังนี้
1.  ผู้ส่งสาร (sender) หรือ แหล่งสาร (source) หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งสาร หรือเป็นแหล่งกำเนิดสาร ที่เป็นผู้เริ่มต้นส่งสารด้วยการแปลสารนั้นให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นแทนความคิด ได้แก่ ภาษาและอากัปกิริยาต่าง ๆ เพื่อสื่อสารความคิด  ความรู้สึก ข่าวสาร ความต้องการและวัตถุประสงค์ของตนไปยังผู้รับสารด้วยวิธีการใด ๆ หรือส่งผ่านช่องทางใดก็ตาม   จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม    เช่น  ผู้พูด  ผู้เขียน  กวี  ศิลปิน นักจัดรายการวิทยุ  โฆษกรัฐบาล  องค์การ  สถาบัน  สถานีวิทยุกระจายเสียง  สถานีวิทยุโทรทัศน์   กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์  หน่วยงานของรัฐ  บริษัท  สถาบันสื่อมวลชน  เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้ส่งสาร

1.  เป็นผู้ที่มีเจตนาแน่ชัดที่จะให้ผู้อื่นรับรู้จุดประสงค์ของตนในการส่งสาร แสดงความคิดเห็น หรือวิจารณ์ ฯลฯ
2.  เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาของสารที่ต้องการจะสื่อออกไปเป็นอย่างดี     
3.  เป็นผู้ที่มีบุคลิกลักษณะที่ดี มีความน่าเชื่อถือ แคล่วคล่องเปิดเผยจริงใจ และมีความรับผิดชอบ  ในฐานะเป็นผู้ส่งสาร
4.  เป็นผู้ที่สามารถเข้าใจความพร้อมและความสามารถในการรับสารของผู้รับสาร
5.  เป็นผู้รู้จักเลือกใช้กลวิธีที่เหมาะสมในการส่งสารหรือนำเสนอสาร   
2.  สาร (message) หมายถึง  เรื่องราวที่มีความหมาย หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อาจอยู่ในรูปของข้อมูล ความรู้ ความคิด ความต้องการ อารมณ์ ฯลฯ   ซึ่งถ่ายทอดจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารให้ได้รับรู้ และแสดงออกมาโดยอาศัยภาษาหรือสัญลักษณ์ใด ๆ  ที่สามารถทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้  เช่น  ข้อความที่พูด   ข้อความที่เขียน   บทเพลงที่ร้อง  รูปที่วาด  เรื่องราวที่อ่าน  ท่าทางที่สื่อความหมาย  เป็นต้น
2.1  รหัสสาร (message code)ได้แก่ ภาษา สัญลักษณ์ หรือสัญญาณที่มนุษย์ใช้เพื่อแสดงออกแทนความรู้ ความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกต่าง ๆ  
2.2  เนื้อหาของสาร
  (message content) หมายถึง บรรดาความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่ผู้ส่งสารต้องการจะถ่ายทอดเพื่อการรับรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเพื่อความเข้าใจร่วมกันหรือโต้ตอบกัน 
2.3  การจัดสาร
 (message treatment) หมายถึง การรวบรวมเนื้อหาของสาร แล้วนำมาเรียบเรียงให้เป็นไปอย่างมีระบบ   เพื่อให้ได้ใจความตามเนื้อหา ที่ต้องการด้วยการเลือก ใช้รหัสสารที่เหมาะสม
3.  สื่อ หรือช่องทาง (media or channel) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการสื่อสาร  หมายถึง  สิ่งที่เป็นพาหนะของสาร  ทำหน้าที่นำสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร   ผู้ส่งสารต้องอาศัยสื่อหรือช่องทางทำหน้าที่นำสารไปสู่ผู้รับสาร
4.  ผู้รับสาร (receiver)  หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือมวลชนที่รับเรื่องราวข่าวสาร
จากผู้ส่งสาร   และแสดงปฏิกิริยาตอบกลับ (Feedback) ต่อผู้ส่งสาร  หรือส่งสารต่อไปถึงผู้รับสารคนอื่น ๆ ตามจุดมุ่งหมายของผู้ส่งสาร   เช่น   ผู้เข้าร่วมประชุม   ผู้ฟังรายการวิทยุ   กลุ่มผู้ฟังการอภิปราย  ผู้อ่านบทความจากหนังสือพิมพ์  เป็นต้น
 2.2 ช่องทางการสื่อสาร (Communication Chanel)
 ช่องทางการสื่อสาร  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของการสื่อสารข้อมูลซึ่งหมายถึง สื่อกลางการส่งผ่านสารสนเทศระหว่างอุปกรณ์ 2 ชนิด โดยการสื่อสารข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารนี้ ความเร็วในการสื่อสารข้อมูลจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 2 ประการ คือ ความกว้างของช่องสัญญาณและชนิดของข้อมูล ซึ่งคำว่า ความกว้างของช่องสัญญาณ (Bandwidth)” อาจเปรียบได้กับความกว้างของถนนและ “ชนิดของข้อมูล” อาจเปรียบได้กับชนิดของรถยนต์ดังนั้นการที่ช่องทางการสื่อสารมีแบนด์วิดท์มาก ก็เท่ากับมีถนนหลายเลน รถยนต์สามารถวิ่งผ่านไปมาได้มากและรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันหากมีแบนด์วิดท์น้อยก็เท่ากับถนนมีเลนน้อย รถยนต์วิ่งผ่านไปมาได้น้อยและช้า นอกจากนี้แล้วชนิดของข้อมูลก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อปริมาณ และความรวดเร็วในการสื่อสารกล่าวคือชนิดข้อมูลที่เป็นข้อความจะมีขนาดเล็กทำให้การส่งผ่านข้อมู่ลไปมาทำได้สะดวกรวดเร็วแม้จะมีแบนด์วิดท์น้อยก็ตามแต่ในทางกลับกัน หากช่องทางการสื่อสารนั้นมีแบนด์วิดท์กว้าง แต่ชนิดข้อมูลกลับเป็นไฟล์วิดีโอซึ่งขนาดใหญ่มากก็จะทำให้ส่งผ่านข้อมูลได้ช้า ช่องทางการติดต่อสื่อสารแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1.ช่องทางการสื่อสารแบบมีสาย (Physical Wire) เช่น สายทวิสเตดแพร์ (Twisted-pair Wire) สายโคแอกเชียล(Coaxial Cable) และเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber-optic Cable) เป็นต้น
2.ช่องทางการสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless) เช่น ไมโครเวฟ (Microwave) ดาวเทียม (Satellite) แสงอินฟราเรด (Infrared) คลื่นวิทยุ (Radio) และเซลลาร์ เป็นต้น
 3.ทฤษฏีของการสื่อสาร
ทฤษฎีการสื่อสาร  คือ  การอธิบายการสื่อสารในด้านความหมาย กระบวนการ องค์ประกอบ วิธีการ  บทบาทหน้าที่  ผล  อิทธิพล  การใช้  การควบคุม  แนวคิดของศาสตร์ต่าง ๆ แนวโน้มอนาคต  และปรากฏการณ์เกี่ยวกับการสื่อสาร  แต่การอธิบายต้องมีการอ้างอิงอย่างมีเหตุผลที่ได้จากหลักฐาน  เอกสาร  หรือปากคำของมนุษย์
            1.  ทฤษฎีเพื่อการสื่อสาร   เกิดขึ้นมานานก่อนที่จะมีการศึกษาในสาขาวิชานิเทศศาสตร์  เริ่มด้วยปรัชญาพุทธและปรัชญากรีก ที่ว่าด้วยการคิดและการพูด หลักวิธีการเผยแพร่ศรัทธาของศาสนาคริสต์  ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองต่าง ๆ ว่าด้วยเสรีภาพของการแสดงออกตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส  ทฤษฎีทางการแพทย์และสรีรวิทยาที่ว่าด้วยประสาทกับการรับสารและสมรรถภาพในการส่งสารของมนุษย์ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์และจิตบำบัดของฟรอยด์  รวมไปถึงหลักและทฤษฎีต่าง ๆ ว่าด้วยภาษา สังคม และวัฒนธรรม  ล้วนแล้วแต่เป็นทฤษฎีของสาขาต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นทฤษฎีแนวปฏิบัติ  เพื่อการสื่อสารภายในบุคคล  ระหว่างบุคคล  การสื่อสารในกลุ่มหรือการสื่อสารในสังคมใหญ่  แม้แต่ภายในสาขานิเทศศาสตร์  ก่อนที่จะมีการสถาปนาเป็นสาขาการศึกษาในยุโรปและอเมริกาตอนต้นศตวรรษที่ 20 ความรู้ที่ได้มาจากการปฏิบัติงานวิชาชีพวารสารศาสตร์ ก็ยังมีบทบาทเป็นทฤษฎีหลักเพื่อการปฏิบัติเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกาขยายไปเจริญเติบโตที่เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ อังกฤษ และออสเตรเลีย  ในช่วง 20 ปี ก่อนศตวรรษที่ 21
            การศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์ที่แยกเป็นเอกเทศในระดับมหาวิทยาลัย เริ่มต้นเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี่  และมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่นิวยอร์ค  จนในปัจจุบันมีวิทยาลัยหรือภาควิชานิเทศศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาประมาณ1,500 แห่ง ในประเทศไทย  เกิดขึ้นแล้วประมาณ 50 แห่ง  โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แล้วขยายออกไปสู่สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
            ในตอนต้น ๆ การศึกษานิเทศก์ศาสตร์จะมุ่งเน้นในด้านการใช้ทฤษฎีเพื่อการสื่อสารมาประยุกต์เป็นเทคนิควิธี และทักษะในการประกอบอาชีพทางด้านการสื่อสารมวลชนในระบบการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะแบบเสรีประชาธิปไตย และระบบตลาดเสรี บนพื้นฐานลัทธิทุนนิยม
            โดยสรุปทฤษฎีเพื่อการสื่อสารก็คือ  ทฤษฎีแนวปฏิบัติ (operational theory)  หรือหลักวิชาทั้งมวลในการปฏิบัติงานด้านการสื่อสาร  โดยเฉพาะการสื่อสารมวลชนที่อาศัยหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และการสื่อสารธุรกิจที่มีการโฆษณา และการประชาสัมพันธ์เป็นหลักสำคัญ
  2.  ทฤษฎีของการสื่อสาร (Theory of communication)  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  มหาวิทยาลัยในสหรัฐได้พัฒนาการศึกษานิเทศก์ศาสตร์ที่เน้นสอนการปฏิบัติงานทางวิชาชีพ (professional practice)  ไปสู่การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีแนวปรัชญาวิทยาศาสตร์ โดยแรงผลักดันส่วนหนึ่งจากอิทธิพลทางปัญญา (intellectual influence) ของนักวิชาการที่อพยพมาจากยุโรป อาทิ ลูอิน และลาซาร์สเฟลด์
                  ทฤษฎีของการสื่อสารจึงเริ่มก่อตั้งขึ้น โดยค่อย ๆ แยกจากทฤษฎีทางสังคมวิทยา จิตวิทยา และภาษา  กลายมาเป็นศาสตร์ใหม่ในตัวของมันเองที่เรียกว่า การสื่อสารมวลชน (mass communication study) มุ่งวิจัยผลของสื่อมวลชนที่มีต่อการเมือง สังคม และวัฒนธรรม  เราเรียกทฤษฎีแนวปรัชญาวิทยาศาสตร์ในระยะเริ่มแรกนี้ว่า  ทฤษฎีการสื่อสารมวลชน (Mass Communication Theory)  ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากผลงานของวิลเบอร์ ชรามม์ เมลวิน เดอเฟอร์ และเดนิส แมคเควล
                  แต่กลุ่มทฤษฎีระบบ (Systems Theories) ของวีเนอร์ แชนนอน และวีเวอร์ (Wiener – Shannon – Weaver) และในเชิงการสื่อสารของมนุษย์ (Human Communication)  ของเบอร์โล (Berlo)  รวมทั้งในเชิงการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)  ของไฮเดอร์ นิวคอมบ์ เฟสติงเกอร์ และออสกูด (Heider-Newcomb-Festiger-Osgood)  ส่งผลให้การศึกษาด้านสื่อสารมวลชนขยายตัวออกไปครอบคลุมอาณาบริเวณของการสื่อสาร(communication spheres) ที่กว้างขวางขึ้น
                  วิชาการสื่อสารมวลชนจึงได้ปรับปรุงตนเอง และขยายตัวจากความเป็นเพียงนิเทศศิลป์ (communication art)  มาเป็นนิเทศศาสตร์ (Communication art and science หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า communication arts)  สมบูรณ์ในสองทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ทฤษฎีของการสื่อสารมิได้จำกัดอยู่เฉพาะที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนเท่านั้น แต่จะครอบคลุมการสื่อสารทุกประเภทและในทุกปริบท (cintext) นับตั้งแต่การสื่อสารภายในบุคคล (intrapersonal communication)  จนไปถึงการสื่อสารของโลก (global communication)  สร้างเป็นองค์ความรู้ที่อธิบายการสื่อสารทั่วไป ในแง่ขององค์ประกอบ โครงสร้าง กระบวนการ บทบาทหน้าที่จุดประสงค์ (purposes)  ประสิทธิผล (effectiveness) ประสิทธิภาพ (efficiency) และค่าประสิทธิภาพ (cost-efficiency)
                  ทฤษฎีของการสื่อสารดังกล่าว  อาจจำแนกแยกย่อยออกเป็นทฤษฎีต่าง ๆ ในการสื่อสาร (theories in communication)  เมื่อองค์ความรู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสื่อสารประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ทฤษฎีต่าง ๆ ในการสื่อสารระหว่างบุคคล หรือในการสื่อสารมวลชน เป็นต้น
  3.  ทฤษฎีเกี่ยวกับการสื่อสาร (Theories about communication)  ทฤษฎีแนวปฏิบัติในนิเทศศิลป์ และทฤษฎีแนวปรัชญาวิทยาศาสตร์ในนิเทศศาสตร์ ได้ร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ทฤษฎีการสื่อสารเป็นอย่างยิ่ง สามารถผลิตบัณฑิตออกไปทำงานในวิชาชีพปีละมาก ๆ เฉพาะในประเทศไทย ซึ่งมีนักศึกษาในสาขานี้รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นคน  มีบัณฑิตที่จบออกไปปีละหลายพันคน ปัญหาที่บัณฑิตส่วนใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญมีความคล้ายคลึงกัน คือไม่สามารถนำทฤษฎีไปใช้ปฏิบัติได้ในวงการวิชาชีพที่ส่วนมากยังมีลักษณะอนุรักษ์นิยม (conservatism)... อนุรักษ์นิยมในแง่ที่นักวิชาชีพส่วนใหญ่ยังมิได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยตรง และในแง่ที่ยังจะต้องผูกพันกับผลประโยชน์ของธุรกิจที่เป็นเจ้าของสื่อหรือเป็นผู้อุปถัมภ์สื่อโดยการให้โฆษณาหรือประชาสัมพันธ์
                  ช่องว่างระหว่างวิชาการและการปฏิบัติในวิชาชีพยิ่งขยายวงกว้างออกไป  การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยผลักดันให้ทฤษฎีโน้มเอียงไปในทางผลประโยชน์ของประชาชน และในทางการสร้างสรรค์ประชาสังคม (civil society) มากขึ้น ในขณะที่การปฏิบัติในวิชาชีพส่วนใหญ่ยังเน้นส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมเป็นเสมือนหนึ่งพาณิชยศิลป์อันเป็นกลไกของตลาดเสรีที่มีทุนเป็นปัจจัยหลัก
                  ช่องว่างที่กว้างใหญ่กลายเป็นความขัดแย้งของอุดมการณ์สองขั้ว (bipolar ideoloty)  และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความเติบโตของทฤษฎีสื่อสารแนววิพากษ์
                  ทฤษฎีเศรษฐกิจการเมือง  เศรษฐกิจสังคม  สังคมจิตวิทยา  มานุษยวิทยา  จริยศาสตร์  นิเวศวิทยา  และสุนทรียศาสตร์  ได้ถูกนำมาเป็นหลักและแนวในการมองการสื่อสารมวลชน  สร้างขึ้นเป็นกลุ่มทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร จัดว่าเป็นกลุ่มทฤษฎีที่พยายามอธิบายเชิงวิพากษ์ต่อการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อชีวิตและสังคม
                  โดยสรุป  ทฤษฎีการสื่อสารก็คือการอธิบายการสื่อสารในด้านความหมาย  กระบวนการ  องค์ประกอบ  หลักการ  วิธีการ  บทบาทหน้าที่  ผล  อิทธิพล  การใช้  การควบคุม  ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร  สภาพปัญหา  และแนวโน้มในอนาคต  รวมทั้งการอธิบายแนวคิดของศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร
                  เราอาจจำแนกทฤษฎีการสื่อสารออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ  (1) ทฤษฎีการสื่อสารแนวปฏิบัติ  ที่พัฒนามาจากทฤษฎีเพื่อการสื่อสาร  (2) ทฤษฎีการสื่อสารแนวปรัชญาวิทยาศาสตร์        ที่พัฒนามาจากทฤษฎีของการสื่อสาร  และ (3) ทฤษฎีการสื่อสารแนววิพากษ์  ที่พัฒนามาจากทฤษฎีเกี่ยวกับการสื่อสาร
4.วิวัฒนาการของทฤษฎีการสื่อสาร
ยุคก่อนทฤษฎีการสื่อสาร
             ยุคก่อนทฤษฎี (pre-theoritical period) อาจย้อนหลังไปหลายล้านปี  เมื่อสัตว์ประเภทหนึ่งได้มีวิวัฒนาการมาสู่ความเป็นมนุษย์นับกลับมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20
            วิวัฒนาการสามพันห้าร้อยล้านปีของสมองชีวิต (brain of life) ได้สร้างเสริมให้สมองของมนุษย์มีสมรรถนะหลายพันล้านเท่าของสมองแบคทีเรีย และนี่เองที่ทำให้มนุษย์วานรได้วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ผู้ชำนาญในการใช้มือ (homohabills) มนุษย์ผู้ลุกขึ้นยืนตัวตรง (homo erectus) มนุษย์ผู้ฉลาด (homo sapiens) และมนุษย์ผู้ฉลาดแสนฉลาด (homo sapiens sapiens)  อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            ตลอดช่วงระยะเวลาของวิวัฒนาการสมองได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการสื่อสาร 2 ระบบ  คือ  (1) การสื่อสารภายในร่างกาย และ  (2) การสื่อสารระหว่างร่างกายกับภายนอก  ระหว่างสิ่งมีชีวิตในสปีชีส์ (species) เดียวกัน และกับสิ่งภายนอกที่รับรู้ได้โดยอาศัยช่องทางหรือประสาทการสื่อสาร
            1.  การสื่อสารภายในร่างกายเป็นไปทั้งโดยมีจิตสำนึก (conscious)  จิตใต้สำนึก (subconscious)  และจิตไร้สำนึก (unconscious)
                  จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกอยู่เฉพาะภายในสมอง  จิตสำนึกอยู่ในรูปแบบของการสำนึกรู้และการคิด  จิตใต้สำนึกส่วนใหญ่  “ซ่อนเร้น”  อยู่ในส่วนเล็ก ๆ ของสมองที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์เก็บความจำ คือ ฮิปโปแคมปัส(hippocampus)  ส่วนจิตไร้สำนึก  หมายถึง  การสื่อสารระหว่างสมองกับทุกเซลล์และทุกอวัยวะภายในร่างกาย
            2.  การสื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิตกับภายนอกร่างกายของตนเอง  หรือกับสิ่งแวดล้อม  ส่วนใหญ่กระทำโดยจิตสำนึกที่เกิดจากการส่งสาร และรับสารผ่านประสาทการรับรู้  แต่ก็มีการสื่อสารกับภายนอกอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึก  เพราะในบรรดารูป รส กลิ่น เสียง หรือสัมผัส ที่ผ่านตาม ลิ้น จมูก หู หรือผิวหนังเข้าสู่สมองของเรานั้น จะมีเพียงส่วนเดียวที่เรารับรู้ในระบบจิตสำนึกของเรา นอกจากนั้นอาจจะผ่านเข้าทางระบบจิตใต้สำนึก เช่น เสียงของทำนองเพลง (melody) ที่ขับร้องโดยนักร้องเพียงคนเดียว มักจะผ่านเข้าทางระบบจิตสำนึกแต่เสียงประสาน (harmony) ของเครื่องดนตรีนับร้อยชิ้นมักจะผ่านเข้าทางระบบจิตใต้สำนึก
                  กระบวนการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกเกิดขึ้นมาพร้อมกับสิ่งมีชีวิต แต่เมื่อสิ่งมีชีวิตได้วิวัฒนามาเป็นมนุษย์  กระบวนการสื่อสารก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีพลัง สมรรถภาพและสมรรถนะเพิ่มมากขึ้น เฉพาะภายในร่างกายก็ได้มีพัฒนาการของเนื้อเยื่อใหม่ (neocortex)  ของสมองส่วนบน  ที่ทำให้มีการเรียนรู้ การคิด เกิดปัญญา (intellignce) และภูมิปัญญา (wisdom) ที่เหนือกว่าสัตว์อื่น ๆ แม้ในหมู่สปีชีส์ที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ อาทิ ลิงชิมแปนซี หรือลิงโบโนโบ
                  ส่วนด้านภายนอกร่างกาย  มนุษย์ก็ได้อาศัยสมองปัญญาและมือซึ่งเป็นมรดกของมนุษย์ผู้ลุกขึ้นยืนตัวตรง (homo erectus) สร้างเครื่องมือหรือส่วนขยายของมือ (extension of hands)  นับตั้งแต่ก้อนหินไปจนถึงสถานีอวกาศ
                  อย่างไรก็ตาม  กระบวนการสื่อสารของมนุษย์ตั้งแต่จุดแรกเริ่มกำเนิดมนุษย์จนถึงเอประมาณห้าแสนปี ก็ยังเป็นไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับสัตว์ทั้งหลาย นั่นคือ เป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับชีวิต และต้องดำเนินไปเพื่อตอบสนองความต้องการของชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อชีวิต (communication for life)  และเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยอัตโนมัติ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือละเลยได้ (compulsory communication)
                  การสื่อสารโดยธรรมชาติตอบสนองความต้องการทางเพศและความต้องการทางสังคม เพื่อทำให้อัตตา (self)  ชาติพันธุ์ (race)  และสปีชีส์ (species)  ของตนอยู่รอดปลอดภัย นั่นคือ  บทบาทหน้าที่ (function)  ที่เป็นเหตุผลหลักของการที่มนุษย์จะต้องมีการสื่อสาร  ส่วนบทบาทหน้าที่อื่นก็เพิ่มเสริมเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่ขยายออกมาถึงระดับชื่อเสียง  ความภาคภูมิใจและอำนาจเหนือผู้อื่น
                  กระนั้นก็ตาม  บทบาทหน้าที่ในการอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตและสังคมก็ยังมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเรื่อยมา ยิ่งมีอันตรายหรืออุปสรรคต่อการอยู่รอดปลอดภัยมาก  มนุษย์ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการสื่อสารให้มีประสิทธิผลมากขึ้น  และนี่เองที่ทำให้สมองของมนุษย์มีพัฒนาการขึ้นในส่วนหน้าด้านซ้ายของเนื้อเยื่อใหม่ จนสามารถทำให้มนุษย์พูดเป็นคำได้เมื่อประมาณ 5 แสนปีก่อน
                  การสื่อสารเป็นคำ (verval communication) หรือการพูดทำให้สื่อสารกันได้เร็วจนสามารถ    ที่จะลดหรือป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายหรือมนุษย์กลุ่มอื่น  เพราะมันเป็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาษาจากภาษาพูดมาสู่ภาษาภาพ และภาษาเขียน
                  หลักฐานภาษาภาพที่ได้พบที่ถ้ำลาสโกส์และถ้ำโซเวต์ในฝรั่งเศส  ถ้ำอัลตามิราในสเปน  รวมทั้งหลายแห่งในออสเตรเลีย  ส่วนใหญ่มีความหมายเกี่ยวกับอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ ทำให้เราต้องสันนิษฐานว่า ภาษาพูดอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการลดหรือขจัดอันตรายต่อความอยู่รอดปลอดภัยของมนุษย์เสียแล้ว ไม่ว่าเขาจะอยู่ในท้องถิ่นทวีปใด
                  ภัยอันตรายจากสัตว์หรือมนุษย์กลุ่มอื่นอาจลดได้  ป้องกันได้โดยการรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว  ด้วยการใช้ภาษาพูด   แต่ยังมีภัยอันตรายอีกมากมายหลายอย่างที่มนุษย์ต้องตกอยู่ในสภาพจนตรอกจนใจ จนทำอะไรไม่ได้  แม้จะมีการรวมตัวรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเข้มแข็งเพียงใดก็ตาม
                  ภัยอันตรายจากพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ฟ้าผ่า เชื้อโรค และความกลัวอันตรายที่เกิดจากอวิชชา  เมื่อได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ดาวหาง ดาวตก
                  ภัยอันตรายและความกลัวอันตรายนี่เองที่อาจทำให้มนุษย์ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อระบายความรู้สึกกลัว หรือพยายามติดต่อสื่อสารขอความเห็นใจจากอำนาจ  “ลึกลับ”  ที่อาจอยู่เบื้องหลังอาจจะต้องร้อง เต้น เขียนภาพ ฆ่าสัตว์ หรือฆ่ามนุษย์ด้วยกันเองเพื่อบูชายันต์
                  การพยายามสื่อสารกับ  “อำนาจลึกลับ”  ก่อให้เกิดศาสนาโบราณและไสยศาสตร์ของชนเผ่าต่าง ๆ ในทุกทวีป แต่เมื่อประมาณสามพันปีศาสดาผู้เปรื่องปราชญ์และทรงปัญญา ได้เสนอหลักศีลธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสันติของเผ่าพันธุ์มนุษย์  ทำให้เกิดศาสนาต่าง ๆ ต่อเนื่องกันมาในประวัติศาสตร์ ได้แก่ ฮินดู ขงจื้อ พุทธ คริสต์ อิสลาม สิกข์ (sikn) และบาไฮ
                  การสื่อสารกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของศาสนาและไสยศาสตร์ ทั้งในด้านการสถาปนาและในด้านการเผยแพร่ลัทธิความเชื่อหรือคำสอน
                  การสถาปนาลัทธิความเชื่อ ได้แก่ การสร้างเรื่อง (story-making)  การเล่าเรื่อง (story-telling)  เกี่ยวกับอำนาจลึกลับ เทพเจ้า พระเจ้าหรือภูตผีปีศาจ
                  แม้ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ก็ยังมุ่งใช้จิตวิทยาการสร้างเรื่อง  สร้างสมมติเทพ  และนิทานชาดก  เกี่ยวกับการประสูติในชาติและรูปลักษณ์ต่าง ๆ ของพระพุทธองค์  ทั้งนี้เพื่อชักจูงโน้มน้าวประชาชนให้ตื่นเต้น สนใจ และเลื่อมใสศรัทธา อาทิ ลัทธิดินแดนบริสุทธิ์ของจีนเชื่อว่าถ้ามีศรัทธาในอำนาจของอมิตาภา ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าของเขตปัจฉิม จะได้ไปเกิดใหม่ในแดนสุขาวดี ซึ่งปราศจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง มีพระโพธิสัตว์หลายองค์ที่กลับมาเกิดในหลายชาติ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ก่อนที่จะบรรลุการตรัสรู้สูงสุดและกลายเป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง
                  อวโลกิตศวร  ก็ถือกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา สงสาร ซึ่งคนจีนเชื่อว่าปรากฏออกมาในร่างเจ้าแม่กวนอิม ผู้ทรงเมตตาและให้ทานแก่เด็กคอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และนักเดินทางในแดนกันดาร ส่วนในจักรวรรดิเขมร  พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ได้สลักเป็นจตุรพักตร์ขึ้นไว้ทั้ง 54 ปรางค์ ในบริเวณปราสาทบายน (ไพชยนต์)
                  ในด้านการเผยแพร่ลัทธิความเชื่อหรือคำสอนได้มีการใช้ปัจจัยกลยุทธ์  ทั้งในการสร้างสื่อและในการสร้างสาร  ศาสนาพุทธสื่อสารเผยแพร่ด้วยภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวบ้านอินเดียในยุคนั้นเข้าใจง่ายจนสามารถเข้าถึงหลักการสื่อสารภายในบุคคล  ระหว่างบุคคลและการสื่อสารสังคมเป็นอย่างดี ทุกศาสนามีการใช้คำอุปมาอุปไมย (metaphor) ที่ทำให้เข้าใจคำสอนได้อย่างลึกซึ้ง
                  ศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ลัทธิลูเธอร์อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี ค.. 1536 โดยนักปฏิรูปศาสนา  ฌอง กัลแวง (Jean Calvin)  เริ่มต้นด้วยหนังสือ เรื่อง สถาบันศาสนาคริสต์ (“L’ Institution de la Religion Chrétianne”)
                  ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก  ตั้งวิทยาลัยเผยแพร่ศรัทธา (propaganda fide) ในปี ค.. 1622 เพื่อผลิตมิชชันนารีเป็นสื่อบุคคลออกไปสอนศาสนาในต่างประเทศ นับว่าเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่สอนวิชานิเทศศาสตร์ แต่ก็ยังไม่มีองค์ความรู้ที่พอจะนับเป็นหลักทฤษฎีได้
                  ในยุคก่อนทฤษฎีนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็ได้มีการศึกษาเรื่องการสื่อสาร โดยมีหลักฐานแน่ชัดว่า ชาร์ล ดาร์วิน (Charle Darwin) เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการ ได้เขียนหนังสือรายงานการศึกษาเล่มใหญ่ เรื่อง “The Expression of Emotions in Man And Animals” (การแสดงอารมณ์ของมนุษย์และสัตว์ในปี ค.3. 1872
                  โดยสรุป  ในช่วงก่อนทฤษฎีนี้  ยังมิได้มีการศึกษาการสื่อสารอย่างจริงจัง ทั้งในระดับวิชาชีพและวิชาการ ที่เห็นได้ชัดคือยังไม่มีการเปิดสอนหลักสูตรการสื่อสารหรือนิเทศศาสตร์เป็นสาขา (discipline) ในมหาวิทยาลัย  แม้ว่าได้มีความพยายามที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานสื่อสารบ้างแล้วก็ตาม
 ทฤษฎีการสื่อสารยุคต้น
             อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ได้มีการพัฒนาวิชาการทางด้านการสื่อสาร  สร้างเป็นทฤษฎีแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในสถาบันชั้นสูง เป็นการนำวิชาการสื่อสารเข้าสู่ยุคทฤษฎีช่วงแรก ก่อนที่จะวิวัฒนาการไปสู่ยุคสมัยนิยม จึงอาจเรียกยุคนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ยุคก่อนสมัยนิยม (pre-modern age)   มีแนวโน้มพัฒนาหลักการรายงานข่าวสารในชีวิตประจำวันให้เป็นศิลปะศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า       วารสารศาสตร์ (journalism)
            ยุคนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรกประมาณทศวรรษ 1890  ถึงประมาณทศวรรษ 1920   และช่วงที่สองทศวรรษที่ 1920 ถึงประมาณทศวรรษที่ 1940
                            1.  มีการพัฒนาวิชาการสื่อสาร ใน 6 ด้าน  คือ
                  1.1  วารสารศาสตร์ทางสื่อสิ่งพิมพ์  (print journalism)  มีการก่อตั้งโรงเรียน  หรือสถาบันวารสารศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี  และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (นครนิวยอร์ค)
                           วิชาการวารสารศาสตร์ค่อย ๆ ขยายออกไปครอบคลุมการโฆษณา (advertising) และการประชาสัมพันธ์ (public relations)  โดยเฉพาะเมื่อนักหนังสือพิมพ์ต้องมีส่วนร่วมหรือสัมผัสกับงานการสื่อสารทั้งสองแขนง
                           เอ็ดเวิร์ด  แบร์เนส์ (Edward Bernays) หลานของซิกมุนด์ฟรอยด์ (Sigmund Freud)  เริ่มสร้างทฤษฎีการประชาสัมพันธ์เป็นก้าวแรก หลังจากที่ไอวีลีตั้งสำนักงานประชาสัมพันธ์แห่งแรก       ที่นิวยอร์ก ในปี 1903
                  1.2  วิชาการภาพยนตร์  ค่อย ๆ เริ่มเจริญเติบโตในสหรัฐอเมริกา  ฝรั่งเศส และเยอรมนี  โดยเฉพาะเมื่อมีการสถาปนาระบบดารา (star system)  ขึ้นในฮอลลีวูด ในปี 1910  และภาพยนตร์อเมริกันประสบความสำเร็จในการขยายอิทธิพลของฮอลลีวูดออกไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 1919
                  1.3  การปฏิวัติทางโทรคมนาคม  ก่อให้เกิดการพัฒนาวารสารศาสตร์ทางวิทยุและ      โทรทัศน์ (Broadcast journalism)  การประดิษฐ์เครื่องส่งสัญญาด้วยคลื่นวิทยุของไฮน์ริค  เฮิร์ตส์ (Heinrich Hertz)  นำมาสู่การกำเนิดสื่อใหม่ คือวิทยุกระจายเสียงสำหรับนักวารสารศาสตร์สมัยใหม่  จะได้ใช้ในการรายงานข่าวสารเป็นประจำวัน เริ่มตั้งแต่ปี 1920 ที่สถานีเชล์มฟอร์ดในประเทศอังกฤษและปี 1921 ที่สถานีหอไอเฟล ประเทศฝรั่งเศส
                  1.4  ทางด้านหนังสือ  เริ่มเกิดมีวรรณกรรมมวลชน (Mass Literature)  โดยการบุกเบิกของนักเขียนอเมริกัน ชื่อ เอช จี เวลส์ (H.G. Wells)  นักเขียนอังกฤษชื่อ  ดี เอ็ช ลอเรนซ์ (D.H. Lawrence)  และนักเขียนฝรั่งเศส ชื่อ จูลส์เวร์น (Jules Verne)  มีการเขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์เพื่อป้อนสถานีวิทยุกระจายเสียงและภาพยนตร์  หนังสือกลายเป็นสื่อมวลชนประเภทช้า (slower media)   ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสื่อมวลชนประเภทเร็ว (faster media) ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์
                  1.5  ทางด้านสังคมวิทยาการสื่อสาร (Sociology of Communication)  เอมีล  ดูรแกง (Émile Durkheim)  นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสารกับการฆ่าตัวตาย สร้างเป็นทฤษฎีอัตวินิบาตกรรม  (Théorie de Suicide 1897) ที่เสนอว่าสังคมที่มีระดับการสื่อสารระหว่างบุคคลต่ำจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ทฤษฎีนี้ย้ำให้เห็นบทบาทและความสำคัญของการสื่อสารที่มีต่อการแก้ปัญหาสังคม
                  1.6  ทางด้านจิตวิทยาการสื่อสาร (Psychology of Communication)  ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)  เขียนหนังสือเกี่ยวกับการตีความหมายหรือการทำนายฝัน (1900)  และเรียงความสามเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศ(1905)  อาจถือได้ว่าเป็นบุคคลแรกที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการสื่อสารภายในบุคคล (intrapersonal communication) อย่างลึกซึ้งจริงจัง ทั้งในด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในนามของจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) และจิตบำบัด(psychotherapy)
             2.  ในช่วงที่สอง  (ทศวรรษ 1920 ถึงทศวรรษ 1940)  เป็นช่วงที่โลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเผชิญกับวิกฤตการณ์ร้ายแรง คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) ในปี 1929  ผนวกกับความเติบโตของลัทธินาซีในเยอรมนี  และลัทธิฟาสชิสต์ในอิตาลี  ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง (1939 – 1945)
                  ในช่วงที่สองนี้  อาณาเขตของทฤษฎีการสื่อสารได้ขยายออกไปครอบคลุมรัฐศาสตร์ของการสื่อสาร (Politics of Communication)  เกิดปรากฏการณ์ที่อาจวิเคราะห์เชิงทฤษฎีออกได้เป็น 3 ปทัสถาน คือ  ทฤษฎีเสรีนิยมแบบตะวันตก (Western Libertarianism)  ทฤษฎีอำนาจนิยมนาซีและฟาสชิสต์ (Nazi-Fascist Authoritarianism)  และทฤษฎีเบ็ดเสร็จนิยมมาร์กซิสต์-เลนินิสต์ (Marxist-Leninist Totalitarianism)
                  2.1  ทฤษฎีอำนาจนิยมนาซีและฟาสชิสต์  หลักการและกลยุทธ์การสื่อสารได้ถูกนำมาใช้ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เยอรมนียุคฮิตเลอร์และอิตาลียุคมุสโสลินี  พัฒนากลไกการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda machine)  ตั้งแต่ระดับแผนกขึ้นไปสู่ระดับกระทรวง ใช้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง ละครและภาพยนตร์ ในการปฏิบัติการทางจิตวิทยา (psychological actions) โน้มน้าวจูงใจให้หลงเชื่อในลัทธิถือเชื้อชาติผิวพรรณ (racism) และการกำจัดศัตรูของสังคม
                        โจเซฟ  เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels)  ประสบความสำเร็จสูงในการแปรกลยุทธ์จิตวิทยาการสื่อสาร ออกมาเป็นโครงสร้างของรัฐที่มีประสิทธิภาพในการปลุกระดมคนเยอรมันให้ทำตามความคิดของผู้นำ (Führer)  อย่างมัวเมา จนถึงกับร่วมกันสังหารยิวหลายล้านคนด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณ
                        แซร์จ  ชาโกตีน (Serge Tchakhotine)  ศาสตราจารย์จิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัยปารีส  ศึกษายุทธการการโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมนี  เขียนเป็นหนังสือเล่มสำคัญประกอบการบรรยายเรื่อง  “Le Viol des Foules parla Propagande Politique”  (การข่มขืนฝูงชนด้วยการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง)  ตีพิมพ์ในปี 1940 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเพียงสองเดือน
                        อีกเรื่องหนึ่งคือ  “ปรัชญาและโครงสร้างของฟาสซิสต์เยอรมัน”  โดยโรเบิร์ต เอ แบรดี (Robert A. Brady)  ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ตีพิมพ์ในอังกฤษปี 1937
                        ยุทธการการโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมนี  เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมที่ผลักดันให้เห็นความสำคัญของการศึกษาวิชาการรณรงค์ทางการเมืองและสาธารณมติ (Political Campaign and Public Opinion) ในสาขาจิตวิทยาสังคม รัฐศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
                        วอลเตอร์ ลิปมันน์ (Walter Lipmann)  นักวารสารศาสตร์อเมริกันเขียนเรื่อง สาธารณมติ (1922) แฮโรลด์ ดี ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์อเมริกันเขียนเรื่อง เทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามโลก (1927) และ “การโฆษณาชวนเชื่อและเผด็จการ (1936)  ทั้งสองนับว่าเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญให้สาขาวิชาการสื่อสารการเมืองขึ้นมาเคียงข้างสาขาวิชาการสื่อสารองค์กรที่มีการประชาสัมพันธ์เป็นแกนหลัก
                        ในช่วงที่สองของยุคต้นนี้  นักวิชาการหลายคนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อและข่าวสารสรงคราม  เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์การสื่อสารต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายอักษะในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  นักคณิตศาสตร์ พอล เอฟ ลาซาร์สเฟลด์ (Paul F. Lazarsfeld)  เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักงานวิจัยวิทยุของมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ และต่อมาเป็นนักวิจัยที่ปรึกษาของสำนักงานสารนิเทศสงคราม  เขาได้ผลิตผลงานวิจัยที่สำคัญหลายชิ้น รวมทั้งการสร้างสมมติฐานการไหลสองทอดของข่าวสาร (Two-step flow hypothesis) หลายเป็นคนหนึ่งที่ร่วมวางรากฐานการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีการสื่อสารในสหรัฐอเมริกา  ทั้ง ๆ ที่เขาเคยเป็นเพียงผู้ได้รับทุนร๊อกกีเฟลเลอร์ผ่านทางมหาวิทยาลัยเวียนนาที่เขาได้รับปริญญาเอกทางคณิตศาสตร์
                  2.2  ทฤษฎีเสรีนิยมแบบตะวันตก  จากการที่จะต้องเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง  รวมทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศ   ทำให้ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดีโรสเวลต์ เองก็ต้องหันมาพึ่งพากลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
                           เขาได้สร้างลัทธินิวดีล (New Deal) เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  และระหว่างเศรษฐีนายทุนกับคนจน ได้ใช้บุคลิกเฉพาะตนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีมนุษยสัมพันธ์  รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุกระจายเสียงในการจูงใจคนอเมริกันให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตร นับว่าเป็นการนำหลักการและทฤษฎีการประชาสัมพันธ์ของภาคเอกชนไปใช้ในภาครัฐได้อย่างผล หลังสงครามจึงได้มีการเปิดสอนวิชาการสื่อสารสาธารณะ (Public Communication)  และบริการข่าวสารสาธารณะ (Public information Service) ทั้งในอเมริกาและยุโรปกลายเป็นแขนงวิชาหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยที่เรียกว่า  การประชาสัมพันธ์ภาครัฐ  หรือ  การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล  ถือได้ว่าเป็นทฤษฎีการสื่อสารภายในกรอบปทัสถานการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย
                  2.3.  ทฤษฎีเบ็ดเสร็จนิยมแบบมาร์กซิสต์-เลนินิสต์  สำหรับในสหภาพโซเวียต  ตั้งแต่การปฏิวัติรัสเซีย ในปี 1920  เลนินเขียนทฤษฎีการเมืองแนวสังคมนิยมหลายเล่ม ในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน เขาได้เสนอแนวคิดสำคัญที่ว่า สื่อมวลชนจะต้องเป็นของรัฐโดยการควบคุมของพรรค  มีหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่ชนชั้นกรรมาชีพ มิใช่ทำธุรกิจขายข่าวเช่นในประเทศเสรีนิยม  ซึ่งสื่อมวลชนมักจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือของนายทุน
                           ทฤษฎีพื้นฐานอุดมทัศน์มาจากทฤษฎีมาร์กซิสต์ผสมผสานกันออกมาเป็นทฤษฎีมาร์กซิสต์-เลนินิสต์  (Marxism-Leninism)  ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและเวียตนาม
                           มองในแง่ทฤษฎีปทัสถาน (normative theory) ทฤษฎีมาร์กซิสต์-เลนินิสต์ สร้างรัฐเบ็ดเสร็จนิยม (totalitarian state)  ที่รัฐมีอำนาจเต็มในการดำเนินงานการสื่อสารมวลชน  เพื่อให้เป็นกลไกการโฆษณาชวนเชื่อ(propaganda machine) ที่จะปลุกระดมมวลชนและผลักดันประเทศไปสู่ความเป็นสังคมนิยมที่สมบูรณ์
                           การศึกษาวารสารศาสตร์สังคมนิยม (socialist journalism) ในประเทศคอมมิวนิสต์จึงได้มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายอุดมการณ์นี้นับตั้งแต่ทศวรรษ 1920 เรื่อยมาจนถึงครึ่งหลังของศตวรรษ 20 คู่ขนานมากับวารสารศาสตร์นิยม(liberal journalism) ในประเทศตะวันตกและที่นิยมตะวันตก
 ทฤษฎีการสื่อสารยุคกลาง
             ยุคนี้เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 1945  หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนมาถึงทศวรรษ 1970 อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคโมเดิร์นนิสต์ (modernism)  มีแนวโน้มสำคัญสามประการคือ (1) การวิพากษ์ทฤษฎีการสื่อสารของกลุ่มอำนาจนิยม และเบ็ดเสร็จนิยม  (2) การก่อเกิดทฤษฎีสื่อสารเพื่อการพัฒนา หรือนิเทศศาสตร์พัฒนาการ (Development Communication Theory   (3) การวิพากษ์ลัทธิสมัยนิยม (modernism)  ที่เป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิหลังสมัยนิยม (postmodernism)  (4) การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีอันเป็นที่มาของศาสตร์แห่งการสื่อสารมวลชน
            1. ในภาพรวม  การวิพากษ์ทฤษฎีของกลุ่มอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยม ก็คือ  การวิเคราะห์เชิงมานุษยวิทยาว่าเป็นแนวคิดที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน  ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของปัจเจกชน  ใช้สื่อมวลชนปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างเข้มข้นเพื่อผลทางการเมืองของฝ่ายเผด็จการ สื่อมวลชนมีประสิทธิผลสูงในเชิงการเมือง แต่ขาดคุณค่าในเชิงมนุษยธรรม
                  การวิพากษ์ได้ก่อให้เกิดทฤษฎีหลากหลายที่เกี่ยวกับผลและอิทธิพลของสื่อในเชิงลบ  อาทิ
กลุ่มทฤษฎีผลอันไม่จำกัดของสื่อ (unlimited effects) ได้แก่ ทฤษฎีกระสุนปืน (magic bullet theory) และทฤษฎีกระสุนเงิน (silver bullet theory) ซึ่งเชื่อว่าการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อความเชื่อและพฤติกรรมของมวลชนอย่างมหาศาล เช่น ในกรณีที่ฮิตเลอร์กระทำต่อประชาชนชาวเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทฤษฎีเข็มฉีดยา (hypodermic needle theory) ที่พยายามแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนสามารถอัดฉีด  สารอย่างเดียวกัน แก่สมาชิกทั้งหมดของสังคมมวลชนอย่างได้ผล
                  กลุ่มทฤษฎีนี้ต่อมาถูก  ลบล้าง”  ด้วยกลุ่มทฤษฎีผลที่จำกัดของสื่อ  (limited effects)  ที่อ้างปัจจัยตัวแปรต่าง ๆ ทางด้านจิตวิทยา สังคมวิทยา หรือรัฐศาสตร์ที่สามารถจำกัดผลของสื่อได้
                  ทางด้านจิตวิทยา เช่น กระบวนการเลือกสรร (selective process) ความน่าเชื่อถือของแหล่งสาร (source credibility) กระบวนการยอมรับนวัตกรรม (innovation adoption process) ทฤษฎีแรงเสริม (reinforcement theory)
                  ทางด้านสังคมวิทยา เช่น แบบจำลองการเกี่ยวโยงพึ่งพากันของผลจากสื่อมวลชน (dependency model of media effects) สมมติฐานการไหลสองทอดของการสื่อสาร (two-step flow of communication) แบบจำลองสังคมวัฒนธรรมและกลุ่มประเภททางสังคมในกระบวนการโน้มน้าวใจ (sociocultural and social categories models of the persuasion process)
                  ทางด้านรัฐศาสตร์ เช่น ทฤษฎีปทัสถานของการปฏิบัติงานสื่อสารมวลชน (normative theories of media performance)
                  อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์ผลและอิทธิพลของสื่อมิได้จำกัดอยู่เฉพาะผลทางตรงเท่านั้น  หากมุ่งมองไปที่ผลทางอ้อมด้วย ทฤษฎีสำคัญที่ยังศึกษากันจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ทฤษฎีคนเฝ้าประตู (gatekeeper theory) ซึ่งเคิร์ท ลูอิน(Kurt Lewin) เป็นผู้เริ่มเสนอในปี 1947 ว่าสื่อมวลชนเป็นผู้กลั่นกรองคัดเลือกข่าวให้เหลือน้อยลงเพื่อการเสนอต่อประชาชน แสดงให้เห็นอำนาจเด็ดขาดของสื่อมวลชนที่ไม่มีใครเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ทฤษฎีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดวาระ(agend-setting function) โดยลาซาร์สเฟลด์ (Lazarsfeld) เริ่มชี้ให้เห็นตั้งแต่ปี 1944 ว่านักการเมืองพยายามโน้มนำประชามติให้สนใจแต่วาระเรื่องราวที่สอดคล้องสนับสนุนจุดยืนของพรรคตน ซึ่งต่อมาแม็คคอมบ์และชอว์ (McCombs and Shaws) ในปี 1972 ได้เสนอเป็นทฤษฎีที่แสดงอิทธิพลทางอ้อมของสื่อในการชี้นำวาระทางสังคม หรือเรื่องราวที่ต้องให้ความสนใจ
                  แบบจำลองการขยายวงของความเงียบ (spiral of silence) ซึ่งโนแอล-นอยมันน์ (Noelle-Neumann) เริ่มเสนอตั้งแต่ปี 1974 ว่าสื่อมวลชนเป็นผู้สร้างบรรยากาศของความคิดเห็น (climate of opinion) ที่ทำให้ปัจเจกชนรู้แนวโน้มของประชามติ และมักจะปิดปากเงียบเมื่อรู้สึกว่าประชามติไม่ตรงกับความคิดเห็นของตน จำนวนปัจเจกชนที่ปิดปากเงียบจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสัดส่วนความเข้มข้นของประชามตินั้น
            2.  นอกจากแนวโน้มในการวิพากษ์ผลและอิทธิพลของสื่อแล้ว  ยุคกลางของทฤษฎีการสื่อสารยังมีแนวโน้มในการเสนอแนวคิดและแนวทางใหม่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะมีแรงผลักดันจากผลของสงคราม สงครามทำให้เห็นความสำคัญของการบูรณะฟื้นฟูพัฒนายุโรปตะวันตก การขยายขอบเขตการพัฒนาออกไปสู่ประเทศที่ยังด้อยพัฒนาในโลกที่สาม รวมทั้งความสำคัญที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของสื่อมวลชนให้หันมาเน้นสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ    ต่าง ๆ ทุกทวีป
                  ได้เกิดมีกลุ่มทฤษฎีที่รวมเรียกว่า  ทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการพัฒนา หรือนิเทศศาสตร์พัฒนาการ  ซึ่งส่วนใหญ่มาจากนักวิชาการอเมริกันที่ตระหนักในอำนาจอิทธิพลของสื่อ และประสงค์จะใช้สื่อในแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของโลก โดยเฉพาะในส่วนที่ยังยากจนและมองเห็นว่าล้าสมัย
                  แดเนียล เลอร์เนอร์ (Daniel Lerner) เขียนหนังสือเรื่อง :”The Passing of Traditional Society, Modernization of the Middle East”  (การผ่านไปของสังคมประเพณีดั้งเดิม การทำให้ตะวันออกกลางทันสมัยในปี 1958 เสนอความคิดให้เปลี่ยนตะวันออกกลางจากสภาพสังคมประเพณีดั้งเดิมไปสู่ความทันสมัย เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ชูธงทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการพัฒนาอย่างกล้าหาญ
                  ทฤษฎีของเขาได้รับการสนับสนุนโดยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ของรอสตอฟ (Rostow) ที่เสนอในปี 1960 ว่า ประเทศที่ด้อยพัฒนาจะเจริญเติบโตได้ก็ด้วยการทำให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม (industrialization)  มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะบินเหิน (take-off)  ขึ้นไปสู่ความทันสมัยได้
                  หลังจากนั้นอีกสองปี เอเวอเร็ตต์ รอเจอร์ส (Everett Rogers)  ทุมเทงานวิจัยและเปิดฉากเสนอทฤษฎีสื่อสารนวัตกรรม (communication of innovation) ไปทั่วโลก แนวความคิดของเขามีอิทธิพลเป็นอันมากต่อนักนิเทศศาสตร์ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะแบบจำลองการยอมรับของชาวบ้าน (adoption process model of the peasants)  ที่ยังนำมาประยุกต์ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
                  ลูเซียนพาย (Ludien Pye)  ในปีเดียวกันเขียนเรื่อง  บทบาทของทหารในประเทศกำลังพัฒนา
                  แต่ที่ตอกย้ำความสำคัญของสื่อมวลชนในการพัฒนามากเป็นพิเศษจนพูดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนิเทศศาสตร์พัฒนาการที่แท้จริงก็คือหนังสือเรื่อง  สื่อมวลชนกับการพัฒนาประเทศ  (1964)  ของวิลเบอร์ชรามบ์ (Wilbur Schramm)  นักสังคมวิทยาที่ต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการสื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก
                  ทฤษฎีเหล่านี้มุ่งเสนอให้สื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ยังล้าหลัง โดยมองเห็นว่า  การพัฒนาก็คือการทำให้ทันสมัย  (เลอร์เนอร์)  การพัฒนาคือความมั่นคง (แม็คนามารา)   การพัฒนาคือเสรีภาพ  (ฌ็องมาเออ ผู้อำนวยการยูเนสโก)  การพัฒนาคือการปฏิวัติด้วยเสรีภาพ  (เฮอร์เบิร์ต มาร์แชล รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ)
                  แต่ก็ถูกย้อนวิพากษ์ (reverse criticism) ว่าการทำให้ทันสมัย (modernization) ก็คือการทำให้เป็นตะวันตก (westernization) ทำให้เป็นอเมริกัน (Americanization) เป็นการหล่อหลอมโน้มน้าวให้เชื่อในลัทธินิยม (modernism)เป็นเสรีภาพที่นำไปสู่ความเป็นทาสความคิดและวัฒนธรรมตะวันตก
            3.  การวิพากษ์ลัทธิสมัยนิยม (modernism) เป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิหลังสมันิยม (postmodernism) นักทฤษฎีแนววิพากษ์จำนวนมิใช่น้อยได้ทุ่มเทศึกษาวิจัยเพื่อโต้แย้งหรือตักเตือนให้ประเทศกำลังพัฒนายั้งคิดไตร่ตรองก่อนที่จะทุ่มตัวยอมรับลัทธิสมัยนิยมจากนักวิชาการชาวอเมริกัน
                  เฮอร์เบอร์ต มาค์คูเซ (Herbert Marcuse)  ได้วางรากฐานการวิพากษ์สังคมไว้ในหนังสือเรื่อง มนุษย์มิติเดียว (One-dimensional Man) ซึ่งเสนอในปี 1964 ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถูกนำมาเป็นบรรทัดฐานความคิดและเครื่องมือสร้างความทันสมัย ท้ายที่สุดก็ได้ลดระดับการพูดและการคิดของมนุษย์ให้เหลือเพียงมิติเดียว อาทิ การรวบความจริงกับการปรากฏความจริงไว้ด้วยกัน การรวบสิ่งของกับบทบาทหน้าที่ของมันไว้ด้วยกัน การรวบธนบัตรกับความสุขไว้ด้วยกัน
                  ทฤษฎีของเขาสร้างขึ้นตั้งแต่สอนอยู่ที่สาขาปรัชญาในมหาวิทยาลัยฟรังเฟิร์ต ซึ่งรู้จักกันในนามของสำนักแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt School)  มีส่วนเป็นชนวนให้นักศึกษาลุกฮือต่อต้านสถาบันทุนนิยม (capitalist establishment)และสังคมบริโภค (society of consumption) ทั้งในปารีส และแคลิฟอร์เนีย  ในปี 1968 ชื่อของเขาถูกกล่าอ้างว่าอยู่ในกลุ่มสามเอ็ม (3 M’s)  ผู้ปฏิวัติสังคม คือ Marx,  Mao  และ  Marcuse
                  เฮอร์เบิร์ต ชิลเลอร์ (Herbert Schillet) แห่งมหาวิทยาลัยซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ผลักดันทฤษฎีวิพากษ์ออกไปสู่ทฤษฎีใหม่ที่อาจเรียกว่าลัทธิจักรวรรดินิยมทางการสื่อสาร (communication imperialism) โดยการเขียนเรื่อง จักรวรรดิ์อเมริกันกับการสื่อสาร “American Empire and Communicaiton” (1969) ตามมาด้วยหนังสืออีกหลายเล่มที่เป็นศูนย์รวมความคิดต่อต้าน “การรุกรานทางวัฒนธรรม”  ของสหรัฐอเมริกา  ติดตามสนับสนุนด้วยงานวิจัยของ คาร์ล นอร์เด็นสเตร็ง (Karl Nordenstreng)  ตาปิโอ  วารีส (Tapio Varis)  จากประเทศฟินแลนด์  สมควร  กวียะ,  บุญรักษ์  บุญญะเขตมาลา  จากประเทศไทยและนักคิดนักวิชาการอีกหลายคนจากตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ในช่วงทศวรรษ 1970
                  ในบทความเรื่อง  “La Morale des Objects”  (วัตถุธรรม)  ตีพิมพ์ในวารสารนิทเทศศาสตร์ของฝรั่งเศส (1969)  ฌ็อง โบดริยาร์ด (Jean Baudrillard)  มีส่วนริเริ่มอย่างสำคัญในการสถาปนาทฤษฎีการบริโภคสัญญะ(consumption of signs) ที่ประสมประสานแนวคิดลัทธินิยมบริโภคของมาร์คูเซและลัทธิจักรวรรดินิยมทางการสื่อสารของชิลเลอร์ทฤษฎีบริโภคสัญญะอธิบายว่า ในประเทศที่มั่งคั่งฟุ่มเฟือย (Pays de Cocagne) ด้วยลัทธิบริโภค มนุษย์มีความสุขความหวังของชีวิตอยู่ที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เขาได้บริโภควัตถุอย่างฟุ่มเฟือย แต่ในความเป็นจริงเขาต้องบริโภค “สัญญะของวัตถุ”  ที่มาจากสื่อมวลชนด้วยและโดยทั่วไป “สัญญะ”  ก็มักจะไม่ตรงกับ  “วัตถุ”  หรือผลิตภัณฑ์
                  ทฤษฎีที่วิพากษ์การบริโภคสัญญะ  วิเคราะห์ลัทธิบริโภคและวิจารณ์ลัทธิจักรวรรดินิยมทางการสื่อสาร ได้ร่วมกันกระตุ้นเตือนอย่างรุนแรงให้โลกของนิเทศศาสตร์ผ่านจากยุคสมัยนิยม (modernism) มาสู่ยุคหลังสมัยนิยม(postmodernism) ในทศวรรษ 1980
            4.  การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีกลายเป็นที่มาของวิชาการสื่อสารมวลชน  ย้อนกลับมาที่สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  นักคิดนักวิชาการไม่เพียงแต่จะได้เสนอแนวคิดทฤษฎีการสื่อสารเพื่อการพัฒนาโลกที่สาม(ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาเท่านั้น หากยังได้พยายามศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีการสื่อสารของตนเองให้เพิ่มพูนคุณค่าและประสิทธิภาพอยู่โดยตลอด อาจเรียกรวมแนวคิดทฤษฎีเหล่านี้อยู่ในกลุ่มพัฒนาการสื่อสาร (communication development) ซึ่งต่อมายูเนสโกก็ได้นำไปเป็นพื้นฐานในการตั้งโครงการนานาชาติ เพื่อการพัฒนาการสื่อสาร (International Program for Communication Development) และญี่ปุ่นก็ได้นำแนวคิดไปสร้างแผนพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ (Information Network System) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1985-2000 ทำให้ญี่ปุ่นก้าวเข้ามาสู่สภาพสังคมสื่อสาร (cybersociety)  ในต้นศตวรรษที่ 21
                  ทฤษฎีที่สำคัญและเป็นรากฐานของการพัฒนาสังคมสื่อสารเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็คือ     ไซเบอร์เนติกส์ (Cybernetics) ซึ่งหมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสารและการควบคุมภายในสัตว์และในเครื่องจักร ซึ่งนำเสนอโดยนอร์เบิร์ต วีเนอร์ (Norber Wiener) เมื่อปี 1948 แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของสารสนเทศในการเสริมสร้างและดำรงสังคมมนุษย์ โดยอาศัยกลไกการป้อนไปและป้อนกลับ (feedforward-feedback mechanism)  ภายในระบบชีวิตและระบบสังคม  ซึ่งถือว่ามีชีวิตเช่นเดียวกัน  ชีวิตและสังคมจะเจริญพัฒนาไปได้ก็โดยการพัฒนาระบบการสื่อสารที่สามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยนสารสนเทศกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                  ในปีเดียวกัน ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell) เสนอทฤษฎีบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน (functionalism)  เสนอให้เห็นชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน คือการดำรงรักษาและบูรณาการสังคม (social integration) จึงจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาสื่อมวลชนมิให้เกิดความล้มเหลว (dysfunction) ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนคือ การเฝ้าระวังสภาพแวดล้อม การประสานส่วนต่าง ๆ ของสังคมให้ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม และการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม
                  อีกทฤษฎีหนึ่งแม้ในตอนเริ่มต้นมิได้เกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนโดยตรง แต่ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสื่อมวลชน นั่นคือ ทฤษฎีสารสนเทศ (information theory) ของ แชนนอน และวีเวอร์ (Shannon and Weaver) ซึ่งพัฒนาขึ้นในปี 1949 เสนอเป็นแบบจำลองที่วิเคราะห์การถ่ายทอดสารนิเทศ และแสดงให้เห็นการสื่อสารเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นจากแหล่งสาร (source) เลือกสาร (message) ถ่ายทอดไป (transmitted) ในรูปแบบของสัญญาณ (signal)ผ่านช่องทางการสื่อสาร (channel) ไปยังเครื่องรับ (receive) ซึ่งแปลงสัญญาณเป็นสารสำหรับจุดหมายปลายทาง (destination) ในกระบวนการนี้อาจมีสิ่งรบกวนหรือแทรกแซง (noise or interference) ซึ่งทำให้สารที่ส่งกับสารที่รับแตกต่างกันได้
                  แบบจำลองของทฤษฎีสารสนเทศนี้ มีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้ เดวิด เค เบอร์โล (David K. Berlo)  พัฒนาไปเป็นแบบจำลองทางจิตวิทยาว่าด้วยองค์ประกอบของการสื่อสารระหว่างบุคคลที่รู้จักกันดีในนามของ S M C R (Source, Message, Channel, Receiver) พิมพ์ในหนังสือ ชื่อ “The Process of Communication”  (กระบวนการสื่อสาร” ในปี 1960
                  แต่องค์ประกอบของกระบวนการการสื่อสารที่เสนอเพิ่มเติมอย่างมีความสำคัญจากทฤษฎีสารสนเทศของแชนนอน-วิเวอร์ ก็คือการเข้ารหัสและการถอดรหัส (encoding-decoding) ของผู้ส่งสารและผู้รับสารในแบบจำลองเชิงวงกลมของ วิลเบอร์ ชรามม์  และ ชาร์ลส์ ออสกูด (Wilbur Schramm and Charles osgood)  ทำให้เห็นว่าการสื่อสารของมนุษย์และของสื่อมวลชนจะมีประสิทธิผลสูงก็ต่อเมื่อการเข้ารหัสถอดรหัสที่ดี  ผู้สื่อสารทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความรู้ความสามารถในการแปลสารสนเทศ (information) เป็นสาร (messgae)  และแปลงสารเป็นสารสนเทศได้ทั้งสองทิศทาง
                  ทฤษฎีอีกกลุ่มหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้บ่อยครั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารมวลชนก็คือแนวคิดของแบบจำลองการใช้ประโยชน์และการไดรับความพึงพอใจ (uses and gratifications) โดยเฉพาะของเอลิฮูคัทซ์ (ElihuKatz)  และคณะ  (1974)  ซึ่งเสนอว่า  การใช้ประโยชน์และการได้รับความพึงพอใจของผู้รับสารมาจากการเปิดรับสารจากสื่อมวลชนที่เขาคาดหวังว่าจะให้สารสนเทศตามความต้องการ อันเกิดจากสภาวะทางจิตใจและทางสังคม
                  จากทฤษฎีนี้ทำให้เริ่มตระหนักว่าสื่อมวลชนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการวิเคราะห์วิจัยให้รู้ความต้องการสารสนเทศของประชาชน รวมทั้งสภาวะทางจิตใจและสังคมอันเป็นที่มาของความต้องการนั้นอยู่ตลอดเวลา
                  ทฤษฎีที่กล่าวข้างต้นมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสื่อสารมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารที่สำคัญที่สุดของสังคมสมัยใหม่  (modern society) ในที่สุดก็ก่อให้เกิดศาสตร์ใหม่ที่ขยายตัวมาจากวารสารศาสตร์ เรียกว่า วิชาการสื่อสารมวลชน
                  สถาบันการศึกษาหลายแหล่งในสหรัฐอเมริกาได้ต่อเติมชื่อคณะหรือสถาบันวารสารศาสตร์ เรียกเป็น “วารสารศาสตร์และสื่อสารมวชชน”  (Journalism and Mass Communication)  ซึ่งในประเทศไทยก็จะเห็นได้ชัดเจนจากกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นเป็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในช่วงทศวรรษ 1970 เช่นเดียวกัน
                  แต่สถาบันการศึกษาอีกส่วนหนึ่งก็ขยายขอบเขตหลักสูตรการศึกษาออกไปครอบคลุมวาทะวิทยา และศิลปะการแสดง แล้วเรียกรวมว่านิเทศศาสตร์ (Communication Arts) ซึ่งต้องการให้หมายถึงทั้งศิลปะและศาสตร์ของการสื่อสาร (Art and Science of Communication) ดังเช่นในกรณีของคณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศไทยนิยมใช้คำว่า   “นิเทศศาสตร์”    ยกเว้น    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง   และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ซึ่งต้องเน้นความสำคัญของวิชาการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นสื่อหลักของสังคมมวลชน
 ทฤษฎีการสื่อสารยุคปัจจุบัน
            ยุคนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วง  คือ  ช่วงแรกตั้งแต่ประมาณปี 1980 ถึงประมาณปี 1995  และช่วงที่สองประมาณปี 1990 จนถึงปัจจุบัน คือปี 2002
            1.  ในช่วงแรก มีแนวโน้มการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีการสื่อสารมาใน 2 ทิศทาง คือ (1) การวิพากษ์เชิงองค์รวม (holistic approach criticism)  ที่นำโลกการสื่อสารเข้าสู่ยุคหลังสมัยนิยม และ    (2) การปฏิรูปแนวคิดและแนวทางการพัฒนาการสื่อสารในสังคมใหม่
                  1.1  การวิพากษ์เชิงองค์รวม  หมายถึง  การที่นักคิด นักวิจัย จากสาขาวิชาต่าง ๆ หันมาใช้ความคิดเชิงองค์รวม วิเคราะห์และวิพากษ์การสื่อสารในระบบทุนนิยมเสรีของสังคมเศรษฐกิจการตลาด (liberal capitalism in market economy)
                           ในเชิงเศรษฐกิจการเมือง  เกิดกลุ่มทฤษฎีการครอบงำกำหนด (determinism)  ที่วิพากษ์ว่าเทคโนโลยีลัทธิสมัยนิยม และลัทธิการแพร่กระจายของรอเจอร์ส (Rogers’s Diffusionism) มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ (fatalism) เทคโนโลยีสร้างสื่อให้เป็นพระเจ้า (dei ex machina) และ  “เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำมีอำนาจเหนือความรู้และการตัดสินใจของประชาชน”  ตามทัศนะของ ฌ็อง ฟร็องซัวส์ ลีโอตาร์ด (Jean Francois Lyotard) ในหนังสือเรื่อง “La Condition Postmoderne” (1979)
                           มองลึกและกว้างไปในปรัชญาเชิงองค์รวม ฌาคส์แดริดา (Jacques Derrida) และมิแชล ฟูโกลต์ (Michel Foucault) สนับสนุนแนวคิดเชิงวิพากษ์ของลีโอตาร์ด และเสริมต่อว่าในยุคสื่อหลากหลาย รัฐบาลและชนชั้นนำยังได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารควบคุมพฤติกรรมสังคมแบบตามจำลอง  “กวาดดูโดยรอบ”  (panopticon) ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชน ทั้งสามนักวิชาการจึงได้เสนอแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า ลัทธิหลังสมัยนิยม (postmodernism)  ถือว่าในสังคมใหม่ เอกชนต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างระบบสารสนเทศเสรี (free flow of information) ทั้งในองค์กรและในสังคม
                           สมควร  กวียะ  เสนอแนวคิดไว้เมื่อปี 1986 ว่า มองในแง่อำนาจอิทธิพลของเทคโนโลยี เราอาจแบ่งประเทศในโลกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่กำหนดเทคโนโลยี และกลุ่มประเทศที่ถูกกำหนดโดยเทคโนโลยี กลุ่มแรกสร้างเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม  กลุ่มที่สองถูกเทคโนโลยีจากกลุ่มแรกเข้ามากำหนดวิถีชีวิต และระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ก่อให้เกิดความเสียเปรียบทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ประเทศจะต้องใช้เงินมหาศาล เป็นต้นทุนของการทำเผื่อทำเกินอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น (redundancy cost) รวมทั้งต้นทุนของการสูญเสียโอกาสในการผลิตเทคโนโลยีของตนเอง (opportunities cost)
                          วิสาหกิจหรือการประกอบการ (entreprise)  ในทศวรรษ 1980 มีลักษณะเป็นนามธรรม และหลากหลายรูปแบบเต็มไปด้วยภาษาสัญลักษณ์ และกระแสการสื่อสารที่เป็นบ่อเกิดของการปรับโครงสร้าง และลำดับชั้นของการพึ่งพาอาศัยกันในระดับโลก  แต่การต่อสู้แข่งขันที่ขยายขอบเขตและเพิ่มความเข้มข้นได้บีบบังคับให้เจ้าของกิจการและผู้บริหารต้องนำความรุนแรง และความวิจิตรวิตถาร (violence and hardcore fantasy)  ของศิลปะประยุกต์มาใช้ในการสื่อสารและวิทยายุทธ์การบริหารองค์กร
                           วัฒนธรรมการโฆษณาและการโฆษณาชวนเชื่อแอบแฝงตามแบบฮอลลีวูด (Hollywoodian hidden propaganda)  แทรกซึมเข้าไปสู่วิถีและวิธีการสื่อสารของมนุษย์ในสังคมหลังสมัยใหม่ จนถึงขนาดที่อาจมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมสงครามเย็นหรือแม้สงครามยิง
                  1.2  แนวโน้มที่สองในช่วงแรกของทฤษฎีการสื่อสารยุคปัจจุบัน คือการปฏิรูปแนวคิดและแนวทางของการพัฒนาการสื่อสารในสังคมใหม่
                           สังคมใหม่ต้องอาศัยสารสนเทศเป็นปัจจัยหลักของการสร้างและธำรงพัฒนาสังคม จึงต้องสร้างและพัฒนาระบบสารสนเทศ ทั้งในองค์กรและในสังคม
                           บนพื้นฐานแนวคิดจากรายงานเรื่อง L’ Informatisation de la Societe (การสร้างสังคมให้เป็นระบบสารสนเทศของซิมองโนรา และอะแลงแมงก์ (Simon Nora และ Alain Minc) ที่เสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ในปี 1978องค์กรกลายเป็นองค์กรสารสนเทศ (Information Organization) สังคมกลายเป็นสังคมสารสนเทศ (Information Society) ต้องอาศัยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจากระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการสร้างระบบสารสนเทศ(Informationization)
                           สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น จึงเริ่มวางแผนพัฒนานิทศทางนี้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 แผนของญี่ปุ่นดำเนินงานโดยบรรษัทโทรเลขและโทรศัพท์แห่งชาติ (NTT)  ภายใต้โครงการ 15 ปี เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศ (Information Network System)  กลายเป็นแม่แบบสำคัญสำหรับสาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย และประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ จุดมุ่งหมายก็เพื่อนำเทคโนโลยีของชาติมาสร้างสังคมสารสนเทศที่พึ่งตนเองได้
                           ต่อมาภายหลังความหมายของคำ  “สังคมสารสนเทศ”  ได้ขยายครอบคลุมมาถึงคำ  “สังคมความรู้”  (Knowledge Society)  และ  “สังคมสื่อสาร”  (Cyber หรือ Communication Soiety)
                           สังคมความรู้  หมายถึง  สังคมสารสนเทศที่เน้นสารสนเทศประเภทความรู้สำคัญกว่าประเภทอื่น  เพราะเชื่อว่าความรู้คือสารสนเทศที่พิสูจน์สรุปแล้วว่าเป็นความจริง และมีสาระพร้อมจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและสังคม
                           สังคมสื่อสาร  คือ  สังคมสารสนเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีเครื่องมือสื่อสารหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)  พร้อมที่จะสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อาณาบริเวณของการสื่อสาร ครอบคลุมทุกท้องถิ่นของสังคม และสามารถขยายออกไปได้ทั่วโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (globalisation)
                           ทฤษฎีโลกาภิวัตน์ถือกำเนิดขึ้นในบทความเรื่อง  Globalization ที่ศาสตราจารย์ธีโอดอร์ เววิตต์ (Theoder Levitt)  เสนอในวารสาร “Harvard Business Review”  เมื่อปี 1983 แม้ว่าก่อนหน้านั้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  มีการใช้คำนี้กันแล้วในทางด้านการเงิน (financial globalization)  มีความหมายถึงการค้าข้ามพรมแดนในระบบการเงินระหว่างประเทศ
            2.  ในช่วงที่สองของทฤษฎีการสื่อสารยุคปัจจุบัน  ซึ่งเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางทศวรรษ 1990 มาถึงปี 2002  นับว่าเป็นช่วงวิกฤตทางทฤษฎี (Theoritical Crisis) ที่สำคัญมากอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ทฤษฎีการสื่อสาร ทั้งนี้เพราะถึงแม้โลกจะมีเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะระบบอินเตอร์เน็ตที่สามารถทำให้ทุกองค์กรและทุกสังคมติดต่อเชื่อมโยงกันได้ในอาณาจักรไซเบอร์ (Cyberspace) หรือโลกไซเบอร์ (Cyberworld)  แต่โลกภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรโลก หรือสหประชาชาติก็ยังอยู่ในสภาพไร้ระเบียบและแตกแยกจลาจลกันจนถึงขั้นทำศึกสงคราม
                  รายงานการศึกษาปัญหาการสื่อสารของโลก โดยคณะกรรมาธิการ  “แม็คไบรด์”  ของยูเนสโก  ได้พบมาตั้งแต่ปี 1978 ว่า ในโลกหนึ่งเดียวนี้มีหลายความคิด หลายความเชื่อ หลายความเห็น (“Many Voices, One World”  ชื่อของรายงานที่พิมพ์เป็นหนังสือในปี 1979)  แต่ที่โลกมีปัญหาก็เพราะว่าประเทศต่าง ๆ และสังคมวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่พยายามสื่อสารทำความเข้าใจและประนีประนอมยอมรับกัน ทั้งนี้เพราะมีทิฐิในลัทธิความเชื่อของตน หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันในทางเศรษฐกิจการเมือง
                  จนกระทั่งทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ทิฐิหรือความขัดแย้งเหล่านั้นก็ยังไม่บรรเทาเบาบาง แต่กลับยิ่งรุนแรงจนกลายเป็นความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics)  ภูมิเศรษฐศาสตร์ (geoeconomics)  และภูมิสังคมวัฒนธรรม (geosocio-culture)  อาณาจักรทางเศรษฐกิจของโลกขยายเข้าไปก้าวก่ายแทรกซ้อนกับอาณาจักรทางการเมือง การปกครอง ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่แล้วกับอาณาจักรทางสังคมวัฒนธรรม ความตึงเครียด (tension) กลายเป็นความเครียดของโลก (world stress)  ที่บั่นทอนทั้งสุขภาพกายและจิตของประชากร
                  การทำศึกสงคราม การก่อการร้าย การต่อสู้เชิงกลยุทธ์เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การแข่งขันกันในเชิงอุตสาหกรรม กลายเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายคุณภาพชีวิต คุณภาพของสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขวัญ กำลังใจ และศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของมนุษยชาติ
                  ท้ายที่สุดความขัดแย้งในความเป็นจริงก็นำมาสู่ความรู้สึกขัดแย้งในเชิงทฤษฎี เข้าทำนอง “สื่อยิ่งมาก การสื่อสารยิ่งน้อย” (The more the media,  the less the communication)  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าสื่อส่วนใหญ่มักถูกใช้เพื่อสร้างสังคมบริโภคที่มนุษย์แข่งขันกันด้วยการโฆษณาสินค้าฟุ่มเฟือย หรือโฆษณาชวนเชื่อลัทธิเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและคุณค่าของความเป็นมนุษย์  สื่อส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกใช้เพื่อสร้างสังคมสารสนเทศหรือสังคมความรู้ที่แท้จริง ซึ่งมนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยสติปัญญาและคุณธรรมความรับผิดชอบร่วมกัน
                  
แต่เหตุผลที่แน่นอนก็คือ ทฤษฎีการสื่อสารตั้งแต่ก่อนยุคทฤษฎี  ยุคสมัยนิยม  ยุคหลังสมัยนิยม  แม้มีการวิพากษ์วิจารณ์  และปรับปรุงพัฒนามาแล้วเพียงใด  ทฤษฎีการสื่อสารก็ยังอยู่ในกรอบของปรัชญาตะวันตกที่เน้นเทคนิคนิยม (technism) มากกว่ามนุษยนิยม (humanism)  และเป็นการสื่อสารทางเดียวมากกว่าการสื่อสารสองทาง  ทั้งนี้เพราะปรัชญาตะวันตกมีรากฐานมาจากลัทธิเทวนิยมแนวศาสนาคริสต์ (Christian theism) ซึ่งถือว่าพระเจ้าองค์เดียวมีอำนาจเหนือมนุษย์ ถ่ายทอดมาเป็นกระบวนทัศน์การสื่อสารเบื้องบนสู่เบื้องล่าง (top-down communication)  จากผู้นำถึงประชาชน  จากคนรวยถึงคนจน  จากคนมีถึงคนไม่มี (have to have-not)  จากนายทุนผู้ผลิตถึงประชาชนผู้บริโภค จากผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจหรือการเมืองถึงผู้บริโภคสัญญะ  ซึ่งหมายถึงผู้จ่ายเงินส่วนหนึ่งซื้อความเป็นนามธรรมที่ไม่มีตัวตนของสินค้าหรืออุดมการณ์
                  การแสวงหากระบวนทัศน์ใหม่จึงค่อย ๆ เริ่มขึ้นในตอนต้นทศวรรณ 1990 และค่อยทวีความเข้มข้นจริงจังในครึ่งหลังของทศวรรษนี้
                  รัฐธรรมนูณฉบับ 2540 ของประเทศไทยได้รับทฤษฎีสื่อมวลชนประชาธิปไตยมาเป็นแนวทางของรัฐ  ในการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนให้มีหลักประกันเสรีภาพ อิสรภาพ ความเสมอภาค ความรับผิดชอบ และประสิทธิภาพเพื่อสาธารณประโยชน์ และเพื่อสังคมตามที่บัญญัติในมาตรา 39,  40 และ 41
                  อมาตยา  เสน (Amatya sen)  นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ในปี 1996 เสนอทฤษฎีกระแสเสรีของข่าวสารเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (free flow of information for economic development) ชี้ให้เห็นว่าความเปิดกว้างของข่าวสาร (informational openness) จะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงและยั่งยืน เพราะผู้นำในระบอบนี้จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการริเริ่มและดำเนินโครงการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ
                  โจเซฟ  สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz)  นักเศรษฐศาสตร์อีกคนหนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบล ในปี 2000 เสนอทฤษฎีสารสนเทศอสมมาตร (Asymetric Information)  แสดงเป็นสมการว่าความแตกต่างทางสารสนเทศทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนรวยกับคนจน เช่น การรับรู้ข่าวสารเรื่องสัมปทานของรัฐเร็วกว่าหรือดีกว่าย่อมได้เปรียบในการยื่นซองประกวดราคา ทำให้มีโอกาสดีกว่าในการได้มาซึ่งสัมปทาน ทำให้มีโอกาสที่จะเพิ่มความร่ำรวยยิ่งกว่าคนที่มิได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสัมปทาน
                  ทฤษฎีนี้ยืนยันถึงบทบาทสำคัญของการเผยแพร่สารสนเทศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทว่าการเผยแพร่สารสนเทศนั้นจะต้องยึดหลักความโปร่งใส ความเสมอภาค และความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม  ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่สารสนเทศของสื่อประเภทใด การทำงานบนพื้นฐานอุดมการณ์ดังกล่าว  จึงต้องมีอิสรภาพในทางวิชาชีพ (professional independence)  ซึ่งถือว่าเป็นจริยธรรมที่สำคัญ
                  ในช่วงเวลาเดียวกัน สมควร  กวียะ  ได้นำเอาทฤษฎีความรับผิดชอบต่อสังคมมาปฏิรูปการประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิม สร้างเป็นทฤษฎีการประชาสัมพันธ์ใหม่ที่เรียกว่า การสื่อสารองค์กรเชิงบูรณาการ (IntegratedOraganizational Communication)  ทฤษฎีนี้เสนอว่าองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนปรัชญา  (1) จากการสื่อสารมิติเดียวมาเป็นการสื่อสารหลายมิติ (multi-dimensional communication) ใช้หลายสื่อ หลายทิศทาง และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมทั้งองค์กรและสังคมอย่างเป็นธรรม  (2) จากการสื่อสารถึงสาธารณชนหรือมวลชนมาเป็นการสื่อสารกับสมาชิกของสังคม เน้นสังคมภายในองค์กรและชุมชนรอบองค์กร ก่อนขยายขอบเขตออกไปสู่องค์กรอื่น และสังคมมวลชน  (3) จากการสื่อสารโน้มน้าวใจให้คล้อยตามมาเป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวบนพื้นฐานความแตกต่าง (oneness of differences)  ของความรู้ ความคิด และบทบาทหน้าที่  (4) จากการสื่อสารเพื่อสร้างเสริมภาพลักษณ์ (mind image)ขององค์กรเพียงด้านเดียวมาเป็นการสื่อสารเพื่อส่งเสริมภาพจริง (real image)  ที่แสดงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคมต่อโลกและต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายขององค์กรหรือไม่
                  แต่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradingm shift) ที่มีความหมายความสำคัญมาก เริ่มต้นโดย ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) นักวิจัยสาขาฟิสิกส์  จากมหาวิทยาลัยเวียนนา  ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์นิเวศศึกษา(Ecoliteracy) ที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย ในปี 1975 เขาจุดประกายกระบวนทัศน์ใหม่เชิงปรัชญาฟิสิกส์ในหนังสือเรื่อง The Tao of Physics (เต๋าแห่งฟิสิกส์)   โดยการประยุกต์ทฤษฎีแนวปรัชญาตะวันออกโดยเฉพาะฮินดู พุทธ และเต๋า  เข้าบูรณาการกับสัจธรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบใหม่ในศตวรรษที่ 20 อาทิ ทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory)  และทฤษฎีจักรวาลวิทยาต่าง ๆ  (Cosmological Theories)  เสนอให้เห็นคุณค่าเชิงวิทยาศาสตร์ของปรัชญาตะวันออกที่สมควรจะนำมาปฏิรูปสังคมที่ได้ถูกกระทำให้เป็นทาสความคิดของตะวันตกตลอดมา
                  ปี 1982 เขาเสนอปรัชญาสังคมแนวใหม่เชิงองค์รวมในหนังสือเรื่อง “The Turning Point”  (จุดเปลี่ยนแปลงแห่งศตวรรษ)  เสนอให้ใช้การคิดเชิงองค์รวม (holistic thinking) ในการแก้ปัญหาของสังคมและของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สื่อมวลชนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกที่จะทำความรู้จัก เข้าใจ ช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
                  ในปี 1996  หนังสือเรื่อง  “The Web of Life”  (ใยแห่งชีวิต)  ของเขา  ปฏิรูปปรัชญาวิทยาศาสตร์บนพื้นฐานทฤษฎีระบบ (Systems Theories)  ทฤษฎีไซเบอร์เนติกส์ และทฤษฎีเกยา (Gaia Theory) ของเจมส์ เลิฟล๊อก (James Lovelock) ที่เสนอว่า โลกก็เป็นสิ่งมีชีวิตเป็นอภิชีวิต (Superbeing) ที่ชีวิตทั้งหลายอยู่ร่วมกันเป็นสหชีวิต (symbiosis) เช่นเดียวกับที่แบคทีเรียนับแสนล้านมีชีวิตร่วมกันกับร่างกายมนุษย์ สรุปให้เห็นว่าการสื่อสารหรือสันนิธานกรรม(communication) คือความเชื่อมโยงระหว่างกัน (interconnectedness) ของทุกระบบ ระบบชีวิต ระบสังคม ระบบโลก เป็นกระบวนการเชื่อมโยงด้วยสารสนเทศในรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างการป้อนไปและการป้อนกลับ                   
จากพื้นฐานแนวคิดหนังสือสามเล่มของฟริตจอฟ คาปรา  สมควร  กวียะ  พยายามนำมาสร้างเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของการสื่อสารมวลชน ในหนังสือเรื่องนิเวศนิเทศ (Eco-communication) ในปี 1997
                  นิเวศวิทยาเป็นแนวคิดการสื่อสารเชิงนิเวศวิทยา (Ecological Communication) ที่เสนอให้สื่อมวลชนเปลี่ยนมโนทัศน์ของการทำงาน  จากการเสนอข่าวสารตามกระแสในรูปแบบดั้งเดิมของวารสารศาสตร์อเมริกัน (American journalism)  ซึ่งวางรากฐานหยั่งลึกมาตั้งแต่ต้นศตวรรษมาเป็นการเฝ้าติดตามสืบสวนสอบสวนพฤติกรรมและผลกระทบของอุตสาหกรรมเชิงลบ (negative industry)  ที่มีต่อระบบนิเวศ ดิน น้ำ อากาศ อาหาร ชีวิต และโลก สื่อมวลชนใหม่จะต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบอย่างลึกซึ้งต่อความเสื่อมโทรมของชีวิตโลก และหลีกเลี่ยงการโฆษณาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่กำลังก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบระยะยาวต่อพิภพ (The Earth)  ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งเดียวและอาจจะเป็นแหล่งสุดท้ายของมนุษยชาติ
                  สำหรับกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารภายในบุคคล และการสื่อสารระหว่างบุคคล  มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการเสนอทฤษฎีปัญญาแห่งจิตวิญญาณ (Spiritual Intelligence Quotient  หรือ SQ)  ในสหรัฐอเมริกา โดยไมเคิล เพอร์ซิงเกอร์ (Micheal Persinger)  นักจิตประสาทวิทยา เริ่มต้นในปี 1990 แต่มีการขยายความคิดโดย วีเอส รามจันทรัน  (V.S. Ramachandran)  แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในปี 1997 และเป็นที่ยอมรับกว้างขวางในปี 2000 เมื่อมิเชล เลวิน (Michel Levin)  เขียนหนังสือเรื่อง “Spiritual Intelligence Awakening the Power of Your Spirituality and Intuition”
                  เส้นทางเดินของปัญญาแห่งจิตวิญญาณ (Paths of SQ) มี 6 ประการคือ การรู้จักหน้าที่ (Duty)   การรู้จักทะนุถนอม (Nurturing)    การแสวงหาความรู้ (Knowledge)  การปรับเปลี่ยนลักษณะตน (Personal Transformation)  การสร้างภราดรภาพ (Brotherhood)   และการเป็นผู้นำแบบบริการ (Servant Leadership)
                  ทฤษฎีปัญญาแห่งจิตวิญญาณ  เป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาการสื่อสารของมนุษย์  คล้ายทฤษฎีเส้นทางที่ปราศจากกาลเวลา (The Timeless Way)  ของดีปักโชปรา (Deepak Chopra)  ในหนังสือ “Ageless Body,  Timeless mind”  (1993)  ที่เสนอว่ามนุษย์จะต้องรู้จักใช้ธรรมะหรือพลังแห่งวิวัฒนาการ (power of evolution) มาเป็นพลังสร้างสรรค์ร่างกายและจิตใจ  โดยปฏิบัติตนในเส้นทางที่ปราศจากกาลเวลาหรือความเสื่อมโทรมตามอายุขัยที่เร็วเกินควร  คือ (1) รู้จักชื่นชมกับความเงียบ (silence) (2) รู้จักความสัมพันธ์เชิงบวกของตนกับธรรมชาติ (nature)  (3) ไว้วางใจในความรู้สึกของตนเอง (trust in own feeling)  (4) มีความมั่นคงในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย (self – centered amid chaos)  (5) รู้จักเล่นสนุกสนานเหมือนเด็ก (childlike fantasy and play)  (6) มั่นใจในสติสัมปชัญญะของตน (trust in own conscionsness)  และ  (7) ไม่ยึดติดความคิดดั้งเดิมแต่สร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา (non – attachment but openness to won creativity) 
                  ทั้งทฤษฎีปัญญาแห่งจิตวิญญาณ (SQ)  และทฤษฎีเส้นทางที่ปราศจากกาลเวลา (Timeless Way)  นับว่าเป็นพัฒนาการมาสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของทฤษฎีการสื่อสารภายในบุคคลที่เริ่มต้นโดยซิกมุนด์ฟรอยด์  และทฤษฎีการสื่อสารระหว่างบุคคลที่เริ่มต้นโดยฟริตซ์ไฮเดอร์ เป็นการนำเอาจริยศาสตร์มาผสมผสานเป็นจริยธรรมการสื่อสารของมนุษย์ (Ethics of Human Communication) ที่ถูกทำให้เสื่อมโทรมมาหลายทศวรรษ โดยลัทธิบริโภค และกระแสโลกาภิวัตน์ของระบอบทุนนิยมเสรี
                  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีเส้นทางที่ปราศจากการเวลา  มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดกระบวนทัศน์ล้ำสมัยและแนวอนาคต (ultramodernist and futuristic paradigm)  ที่มีเวลาเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญของสารสนเทศและการสื่อสารทุกประเภท นั่นคือ ทฤษฎีสารเวลา  (The Infotime Theory)  ซึ่ง สมควร  กวียะ  ได้นำเสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  เมื่อเดือนมีนาคม 2002 หลังจากที่ได้วิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 1997
                  ทฤษฎีสารเวลามาจากการวิจัยเชิงทดลองทางความคิด (thought experiment)  บนพื้นฐานความคิดเชิงองค์รวม และความรู้ทางนิเทศศาสตร์ มนุษศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทุกแขนง ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดทฤษฎีของพระพุทธองค์  ไอน์สไตน์  ดาร์วิน  ฟรอยด์  ชรามม์  วีเนอร์  คาปรา  โชปรา  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสตีเฟน  ฮอว์คิง  (Stephen Hawking)  ในหนังสือเรื่อง “A Brief History of Time” (1990)
                  ตามทฤษฎีสารเวลาสาร  (Information)  หมายถึงทุกสรรพสิ่งในเอกภพ  คือสารทางกายภาพ (Physical Information)  สารทางชีวภาพ (Biological Information)  สารทางสมอง (Brain Information) และสารนอกร่างกาย(Extrasomatic Information) หรือสารสังคม (Social Information)
                  การสื่อสาร คือการสร้างสภาพร่วมระหว่างผู้สื่อสาร (commonness-making)  หรือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียว (oneness-making)  ของทุกสาร นับตั้งแต่อะตอม โมเลกุล ดาวฤกษ์ กาแล็กซี่ หรือดาราจักร ดาวเคราะห์ ชีวิต สังคม มาจนถึงองค์กร
                  การสื่อสารเป็นกระบวนการพลวัตของความเชื่อมโยงติดต่อระหว่างกัน (dynamic process of intyerconnectedness)  ที่ก่อให้เกิดสารหรือระบบ (information or system)
                  แต่จากทฤษฎีเวลาทั้งในทางวิทยาศาสตร์  มนุษยศาสตร์  และสังคมศาสตร์  พบว่าการสื่อสารอย่างเดียวไม่พอที่จะเกิดให้เกิดระบบได้  ระบบต้องมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด (perpetual change) นับตั้งแต่การเกิดไปจนถึงการตาย
                  ทุกระบบหรือทุกสารจึงต้องมีเวลาเป็นองค์ประกอบที่จะขาดเสียมิได้  เรียกรวมเสียใหม่ว่า สารเวลา  หรือ  Infotime...   สารคือโครงสร้างและกระบวนการก็คือ  เวลา  ซึ่งจะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
                  โดยสรุป  ทฤษฎีสารเวลาก็คือ  สมมติฐานหลักของทฤษฎีการสื่อสารหรือสันนิธานกรรมทั่วไป  (The General Communication Theory)  ซึ่งคาดว่าจะเป็นปฐมบทสำคัญ (major postulate)  สำหรับทฤษฎีของทุกสิ่งทุกอย่าง(The Theory of Everything and Every Non-Thing)
 ทฤษฎีการสื่อสารและการเรียนการสอน
            เพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้และผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด  นอกจากจะใช้เทคโนโลยีการศึกษาทั้งในเรื่องของกระบวนการและทรัพยากรต่าง ๆ  แล้วจำเป็นต้องอาศัยทฤษฏีการสื่อสารในการนำเสนอเนื้อหาจากผู้ส่งไปยังผู้รับ  สื่อหรือช่องทางในการถ่ายทอด  และวิธีการในการติดต่อเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการจัดการเรียนการสอนอย่างได้ผลดีที่สุดด้วย  ทั้งนี้เพราะสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในกระบวนการสื่อสาร  คือ  การที่จะสื่อความหมายอย่างไรเพื่อให้ผู้รับสารนั้นเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่าผู้ส่งหมายความว่าอะไรในข่าวสารนั้นมีนักวิชาการหลายท่านได้นำเสนอทฤษฏีการสื่อสารที่นำมาใช้เป็นหลักในการศึกษาถึงวิธีการส่งผ่านข้อมูลสารสนเทศการใช้สื่อและช่องทางการสื่อสาร ทฤษฏีการสื่อสารเหล่านี้ได้นำมาใช้ในขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษาตั้งแต่ทศวรรษ  1980s  เป็นต้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับใช้เป็นแนวทางในสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียน  รวมถึงการเลือกใช้สื่อเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเรียนรู้ได้อย่างดี
            สูตรการสื่อสารของลาสแวลล์  (Lesswell) 
                        ฮาโรลด์  ลาสแวลล์  (Harold  Lasswell)  ได้ทำการวิจัยในเรื่องการสื่อสารมวลชนไว้ในปี  ..  2491 และได้คิดสูตรการสื่อสารที่ถึงพร้อมด้วยกระบวนการสื่อสารที่สอดคล้องกัน  โดยในการสื่อสารนั้นจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้คือ

<!--[if !vml]--><!--[endif]-->ใคร              พูดอะไร             โดยวิธีการและช่องทางใด             ไปยังใคร               ด้วยผลอะไร

                        สูตรการสื่อสารของลาสแวลล์เป็นที่รู้จักกันอย่างแร่หลายและเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปโดยสามารถนำมาเขียนเป็นรูปแบบจำลองและเปรียบเทียบกับองค์ประกอบของการสื่อสารได้ดังนี้
            ในการที่จะจัดให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพดีนั้น  เราสามารถนำสูตรของลาสแวลล์มาใช้ได้เช่นเดียวกับการสื่อสารธรรมดา  คือ
            •  ใคร  (Who)  เป็นผู้ส่งหรือทำการสื่อสาร  เช่น  ในการอ่านข่าว  ผู้อ่านข่าวเป็นผู้ส่งข่าวารไปยังผู้ฟังทางบ้าน  ในสถานการณ์ในห้องเรียนธรรมดาก็เช่นเดียวกันย่อมเป็นการพูดระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน  หรือการที่ผู้เรียนกลายเป็นผู้ส่งโดยการตอบสนองกลับไปยังผู้สอน  แต่ถ้าเป็นการสอนโดยใช้ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์  ตัวผู้ส่งก็คือภาพยนตร์หรือโทรทัศน์นั้น
            •  พูดอะไร  ด้วยวัตถุประสงค์อะไร  (Says  what, with what purpose)    เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับ  เนื้อหาข่าวสารที่ส่งไป  ผู้ส่งจะส่งเนื้อหาอะไรโดยจะเป็นข่าวสารธรรมดาเพื่อให้ผู้รับทราบความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่าง ๆ  ในแต่ละวัน  หรือเป็นการให้ความรู้โดยที่ผู้สอนจะต้องทราบว่าจะสอนเรื่องอะไร  ทำไมจึงจะสอนเรื่องนั้น  สอนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร  และคาดว่าจะได้รับการตอบสนองจากผู้เรียนอย่างไรบ้าง
            •  โดยใช้วิธีการและช่องทางใด  (By  what  means, in what channel)  ผู้ส่งทำการส่งข่าวสารโดยการพูด  การแสดงกริยาท่าทาง  ใช้ภาพ ฯลฯ  หรืออาจจะใช้อุปกรณ์ระบบไฟฟ้า  เช่น  ไมโครโฟน  หรือเครื่องเล่นวีซีดีเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาข่าวสารให้ผู้รับรับได้โดยสะดวก  ถ้าเป็นในการเรียนการสอน      ผู้สอนอาจจะสอนโดยการบรรยายหรือใช้สื่อสารสอนต่าง ๆ  เพื่อช่วยในการส่งเนื้อหาบทเรียนไปให้       ผู้เรียนรับและเข้าใจได้อย่างถูกต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น
            •  ส่งไปยังใคร  ในสถานการณ์อะไร  (To  whom, in what situation)  ผู้ส่งจะส่งข่าวสารไปยัง   ผู้รับเป็นใครบ้าง   เนื่องในโอกาสอะไร   เช่น   การอ่านข่าวเพื่อให้ผู้ฟังทางบ้านทราบถึงเหตุการณ์  ประจำวัน  หรือแสดงการทำกับข้าวให้กลุ่มแม่บ้านชม  ผู้ส่งย่อมต้องทราบว่าผู้รับเป็นกลุ่มใดบ้างเพื่อสามารถเลือกสรรเนื้อหาและวิธีการส่งให้เหมาะสมกับผู้รับ  การเรียนการสอนก็เช่นเดียวกัน   การสอน   ผู้เรียนอายุ  8  ปีกับอายุ  15  ปีต้องมีวิธีการสอนและการใช้สื่อการสอนต่างกัน  ผู้สอนต้องทราบถึงระดับสติปัญญาความสามารถและภูมิหลังของผู้เรียนแต่ละคนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างตลอดจน    สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของการเรียน  เช่น  มีสื่อการสอนอะไร       ที่จะนำมาใช้สอนได้บ้าง  สภาพแวดล้อมห้องเรียนที่จะสอนเป็นอย่างไร  ฯลฯ
            •  ได้ผลอย่างไรในปัจจุบัน  และอนาคต  (With  what effect, immediate and long term ?)  การส่งข่าวสารนั้นเพื่อให้ผู้รับฟังผ่านไปเฉย ๆ  หรือจดจำด้วยซึ่งต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่แตกต่างกัน  และเช่นเดียวกันกับในการเรียนการสอนที่จะได้ผลนั้น  ผู้สอนจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเมื่อสอนแล้ว    ผู้เรียนจะได้รับความรู้เกิดการเรียนรู้มากน้อยเท่าใด  และสามารถจดจำความรู้ที่ได้รับนั้นได้นานเพียงใด  โดยที่ผู้เรียนอาจได้รับความรู้เพียงบางส่วนหรือไม่เข้าใจเลยก็ได้  การวัดผลของการถ่ายทอดความรู้นั้นอาจทำได้ยากเพราะบางครั้งผู้เรียนอาจจะไม่แสดงการตอบสนองออกมา  และบางครั้งการตอบสนองนั้นก็อาจจะวัดผลไม่ได้เช่นกัน
ทฤษฏี  SMCR  ของเบอร์โล  (Berlo) 
            เดวิด เค.  เบอร์โล  (David K.Berlo)  (รูปที่  3.2  ได้พัฒนาทฤษฎีที่ผู้ส่งจะส่งสารอย่างไร  และผู้รับจะรับ  แปลคววามหมาย  และมีการโต้ตอบกับสารนั้นอย่างไร  ทฤษฏี   S M C R  ประกอบด้วย 
            •  ผู้ส่ง  (source)  ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความชำนาญในการสื่อสารโดยมีความสามารถใน     “การเข้ารหัส”  (encode)  เนื้อหาข่าวสาร  มีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับเพื่อผลในการสื่อสารมีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่จะส่ง  และควรจะมีความสามารถในการปรับระดับของข้อมูลนั้นให้เหมาะสมและง่ายต่อระดับความรู้ของผู้รับ  ตลอดจนพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับผู้รับด้วย
            •  ข้อมูลข่าวสาร  (message)  เกี่ยวข้องด้านเนื้อหา  สัญลักษณ์  และวิธีการส่งข่าวสาร
            •  ช่องทางในการส่ง  (channel)  หมายถึง  การที่จะส่งข่าวสารโดยการให้ผู้รับได้รับข่าวสาร    ข้อมูลโดยผ่านประสานทสัมผัสทั้ง  5  หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง  คือ  การได้ยิน  การดู  การสัมผัส      การลิ้มรส  หรือการได้กลิ่น
            •  ผู้รับ  (receiver)  ต้องเป็นผู้มีทักษะความชำนาญในการสื่อสารโดยมีความสามารถใน     “การถอดรหัส”  (decode)  สาร  เป็นผู้ที่มีทัศนคติ  ระดับความ  และพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรม  เช่นเดียวหรือคล้ายคลังกันกับผู้ส่งจึงจะทำให้การสื่อสารความหมายหรือการสื่อสารนั้นได้ผล
            ตามลักษณะของทฤษฏี S M C R  นี้  มีปัจจัยที่มีความสำคัญต่อขีดความสามารถของผู้ส่งและรับที่จะทำการสื่อสารความหมายนั้นได้ผลสำเร็จหรือไม่เพียงใด  ได้แก่
            •  ทักษะในการสื่อสาร  (communication skills)  หมายถึง  ทักษะซึ่งทั้งผู้ส่งและผู้รับควรจะมีความชำนาญในการส่งและการรับการเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันได้อย่างถูกต้อง  เช่น  ผู้ส่งต้องมีความสามารถในการเข้ารหัสสาร  มีการพูดโดยการใช้ภาษาพูดที่ถูกต้อง  ใช้คำพูดที่ชัดเจนฟังง่าย  มีการแสดงสีหน้าหรือท่าทางที่เข้ากับการพูด  ท่วงทำนองลีลาในการพูดเป็นจังหวะ  น่าฟัง  หรือการเขียนด้วยถ้อยคำสำนวนที่ถูกต้องสละสลวยน่าอ่าน  เหล่านี้เป็นต้น  ส่วนผู้รับต้องมีความสามารถในการถอดรหัสและมีทักษะที่เหมือนกันกับผู้ส่งโดยมีทักษะการฟังที่ดี  ฟังภาษาที่ผู้ส่งพูดมารู้เรื่อง  หรือสามารถอ่านข้อความที่ส่งมานั้นได้  เป็นต้น
            •  ทัศนคติ  (attitudes)  เป็นทัศนคติของผู้ส่งและผู้รับซึ่งมีผลต่อการสื่อสาร  ถ้าผู้ส่งและผู้รับ  มีทัศนคติที่ดีต่อกันจะทำให้การสื่อสารได้ผลดี  ทั้งนี้เพราะทัศนคติย่อมเกี่ยวโยงไปถึงการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างผู้ส่งและผู้รับด้วย  เช่น  ถ้าผู้ฟังมีความนิยมชมชอมในตัวผู้พูดก็มักจะมีความเห็นคล้อยตามไปได้ง่าย  แต่ในทางตรงข้าม  ถ้าผู้ฟังมีทัศนคติไม่ดีต่อผู้พูดก็จะฟังแล้วไม่เห็นชอบด้วยและมีความเห็นขัดแย้งในสิ่งที่พูดมานั้น  หรือถ้าทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติไม่ดีต่อกันท่วงทำนองหรือนำเสียงในการพูดก็อาจจะห้วนห้าวไม่น่าฟัง  แต่ถ้ามีทัศนคติที่ดีต่อกันแล้วมักจะพูดกันด้วยความไพเราะอ่านหวานน่าฟัง  เหล่านี้เป็นต้น
            •  ระดับความรู้  (knowledge  levels)  ถ้าผู้ส่งและผู้รับมีระดับความรู้เท่าเทียมกันก็จะทำให้การสื่อสารนั้นลุล่วงไปด้วยดี  แต่ถ้าหากความรู้ของผู้ส่งและผู้รับมีระดับที่แตกต่างกันย่อมจะต้องมีการปรับปรุงความยากง่ายของข้อมูลที่จะส่งในเรื่องความยากง่ายของภาษาและถ้อยคำสำนวนที่ใช้  เช่น    ไม่ใช่คำศัพท์ทางวิชาการ ภาษาต่างประเทศ  หรือถ้อยคำยาว ๆ  สำนวนสลับซับซ้อน  ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อความเข้าใจ  ตัวอย่างเช่น  การที่หมอรักษาคนไข้แล้วพูดแต่คำศัพท์การแพทย์เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ  ย่อมทำให้คนไข้ไม่เข้าใจว่าตนเองเป็นโรคอะไรแน่หรือพัฒนากรจากส่วนกลางออกไปพัฒนาหมู่บ้านต่าง ๆ  ในชนบทเพื่อให้คำแนะนำทางด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์แก่ชาวบ้าน  ถ้าพูดแต่ศัพท์ทางวิชาการโดยไม่อธิบายด้ายถ้อยคำภาษาง่าย ๆ  หรือไม่ใช้ภาษาท้องถิ่นก็จะทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้  หรือในกรณีของการใช้ภาษามือของผู้พิการทางโสต  ถ้าผู้รับไม่เคยได้เรียนภาษามือ  มาก่อนทำให้ไม่เข้าใจและไม่สามารถสื่อสารกันได้  เหล่านี้เป็นต้น
            •  ระบบสังคมและวัฒนธรรม  (socio  - culture systems)  ระบบสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละชาติเป็นสิ่งที่มีส่วนกำหนดพฤติกรรมของประชาชนในประเทศนั้น ๆ  ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติ  สังคมและวัฒนธรรมในแต่ละชาติย่อมมีความแตกต่างกัน  เช่น  การให้ความเคารพต่อผู้อาวุโส  หรือวัฒนธรรมการกินอยู่  ฯลฯ  ดังนั้น  ในการติดต่อสื่อสารของบุคคลต่างชาติต่างภาษา  จะต้องมีการศึกษาถึงกฎข้อบังคับทางศาสนาของแต่ละศาสนาด้วย
การสื่อสารทางเดียวเชิงเส้นตรงของแชนนันและวีเวอร์
            คล็อด อีแชนนัน  (Claude E.Shannon)  และวอร์เรนวีเวอร์  (Warren  Weaver)  ได้คิดทฤษฏีการสื่อสารทางเดียวเชิงเส้นตรง  การสื่อสารเริ่มด้วยผู้ส่งซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลทำหน้าที่ส่งเนื้อหาข่าวสารเพื่อส่งไปยังผู้รับ  โดยผ่านทางเครื่องส่งหรือตัวถ่ายทอดในลักษณะของสัญญาณที่ถูกส่งไปในช่องทางต่าง ๆ  กันแล้วแต่ลักษณะของการส่งสัญญาณแต่ละประเภท  เมื่อทางฝ่ายผู้ได้รับสัญญาณแล้ว  สัญญาณที่ได้รับจะถูกปรับให้เหมาะสมกับเครื่องรับหรือการรับเพื่อทำการแปลสัญญาณให้เป็นเนื้อหาข่าวสารนั้นอีกครั้งหนึ่งให้ตรงกับที่ผู้ส่งส่งมาก  ในขึ้นนี้เนื้อหาที่รับจะไปถึงจุดหมายปลายทางคือผู้รับตามที่ต้องการ  แต่ในบางครั้งสัญญาณที่ส่งไปอาจถูกรบกวนหรืออาจมีบางสิ่งบางอย่างมาขัดขวางสัญญาณนั้น  ทำให้สัญญาณที่ส่งไปกับสัญญาณที่ได้รับมีความแตกต่างกันเป็นเหตุให้เนื้อหาข่าวสารที่ส่งจากแหล่งข้อมูลไปยังจุดหมายปลายทางอาจผิดเพี้ยนไปนับเป็นความล้มเหลวของการสื่อสารเนื่องจากที่ส่งไปกับข้อมูลที่ได้รับไม่ตรงกัน  อันจะทำให้เกิดการแปลความหมายผิดหรือความเข้าใจผิดในการสื่อสารกันได้ 
            จากทฤษฏีการสื่อสารนี้พิจารณาได้ว่า  แชนนันและวีเวอร์สนใจว่าเมื่อมีการสื่อสารกันจะมีอะไรเกิดขึ้นกับข้อมูลข่าวสารที่ส่งไปนั้น  ไม่ว่าจะเป็นการส่งโดยผ่านอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า  หรือการส่งโดยใช้สัญญาณต่าง ๆ  เช่น  เมื่อมีการเปิดเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ  เสียงเพลงนั้นจะถูกแปลงเป็นสัญญาณและส่งด้วยการกล้ำสัญญาณ  (modulation)  จากสถานีวิทยุไปยังเครื่องรับวิทยุ  โดยเครื่องรับจะแปลงสัญญาณคลื่นนั้นเป็นเพลงให้ผู้รับได้ยิน  ในขณะที่สัญญาณถูกส่งไปจะมีสิ่งต่าง ๆ  “สิ่งรบกวน”  (noise source)  เช่น  ในการส่งวิทยุระบบ  AM  สัญญาณจะถูกรับกวนโดยไฟฟ้าในบรรยากาศ  หรือในขณะที่ครูฉายวิดีทัศน์ในห้องเรียน  การรับภาพและเสียงของผู้เรียนถูกระกวนโดยสิ่งรบกวนหลายอย่าง เช่น  แสงที่ตกลงบนจอโทรทัศน์  และเสียงพูดคุยจากภายนอก  เป็นต้น  หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่นการพูดโทรศัพท์  ผู้ที่เริ่มต่อโทรศัพท์จะเป็นผู้ส่งเพื่อส่งข่าวสารโดยอาศัยโทรศัพท์เป็นเครื่องส่ง  เมื่อผู้ส่งพูดไปเครื่องโทรศัพท์จะแปลงคำพูดเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปตามสายโทรศัพท์  เมื่อสัญญาณไฟฟ้านั้นส่งไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของหมายเลขที่ติดต่อก็จะมีเสียงดังขึ้น  และเมื่อมีผู้รับ  โทรศัพท์เครื่องนั้นก็จะแปลงสัญญาณไฟฟ้าให้กลับเป็นคำพูดส่งถึงผู้รับหรือผู้ฟังซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการสื่อสาร  แต่ถ้าระหว่างที่ส่งสัญญาณไปมีสิ่งรบกวนสัญญาณ  เช่น  ฝนตกฟ้าคะนอง  ก็จะทำให้สัญญาณที่ได้รับถูกรบกวนสั่นสะเทือนอาจรับไม่ได้เต็มที่เป็นเหตุให้การฟังไม่ชัดเจน  ดังนี้เป็นต้น  จึงสรุปได้ว่า  “สิ่งรบกวน” คือ  สิ่งที่ทำให้สัญญาณเสียไปภายหลังไปภายหลังที่ถูกส่งจากผู้ส่ง
 การสื่อสารเชิงวงกลมของออสกูดและชแรมม์
             ตามปกติแล้วในการสื่อสารระหว่างบุคคลและแบบกลุ่มบุคคลนั้น  ผู้ส่งและผู้รับจะมีการเปลี่ยนบทบาทกันไปมาในลักษณะการสื่อสารสองทาง  โดยเมื่อผู้ส่งได้ส่งข้อมูลข่าวสารไปแล้ว  ทางฝ่ายผู้รับทำการแปลความหมายข้อมูลที่รับมา  และจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับกลับเป็นผู้ส่งเดิมเพื่อตอบสนองต่อ สิ่งที่รับมา  ในขณะเดียวกันผู้ส่งเดิมจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้รับเพื่อรับข้อมูลที่ส่งกลับมาและทำการแปลความหมายสิ่งนั้น  ถ้ามีข้อมูลที่จะต้องส่งตอบกลับไปก็จะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ส่งอีกครั้งหนึ่งเพื่อส่ง    ข้อมูลกลับไปยังผู้รับเดิมการสื่อสารในลักษณะที่ทั้งผู้ส่งและผู้รับจะวนเวียนเปลี่ยนบทบาทกันไปมาในลักษณะเชิงวงกลมด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้ชารลส์  อีออสกูด  (Charles  E.  Osgood)  และ วิลเบอร์  แอล.  ชแรมม์  (Wibur  L.  Schramm)  ได้สร้างแบบจำลองการสื่อสารเชิงวงกลมขึ้น  โดยเน้นถึงไม่เพียงแต่องค์ประกอบของการสื่อสารเท่านั้น  แต่รวมถึงพฤติกรรมของทั้งผู้ส่งและผู้รับด้วยโดยที่แบบจำลองการสื่อสารเชิงวงกลมนี้จะมีลักษณะของการสื่อสารสองทางซึ่งตรงกันข้างอย่างเห็นได้ขัดกับการสื่อสารทางเดียวเชิงเส้นตรงของแชนนันและวีเวอร์  ข้อแตกต่างอีกประการคือในขณะที่ความสนใจของแชนนันและวีวเรอ์อยู่ที่ช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ส่งและผู้รับ แต่ออสกูดและชแรมม์ได้มุ่งพิจารณาและเฉพาะพฤติกรรมของผู้ส่งและผู้รับซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสื่อสาร
            ในแบบจำลองนี้จะเห็นได้ว่าออสกูดและชแรมม์มิได้กล่าวถึงตัวถ่ายทอดการสื่อสารเลยแต่ได้เน้นถึงการกระทำของผู้ส่งและผู้รับซึ่งทำให้ที่อย่างเดียวกันและเปลี่ยนบทบาทกันไปมาในการเข้า     รหัสสาร  การแปลความหมาย  และการถอดรหัสสาร  อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่าหน้าที่ในการเข้า   รหัสนั้น  มีส่วนคล้ายคลึงกับตัวถ่ายทอด  และการถอดรหัสก็คล้ายคลึงกับการับของเครื่องรับนั่นเอง
 ขอบข่ายประสบการณ์ในทฤษฏีการสื่อสารของชแรมม์
             ชแรมม์ได้นำทฤษฏีการสื่อสารทางเดียวเชิงเส้นตรงของเชนนันและวีเวอร์มาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการอธิบายการสื่อสารที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอน  โดยเน้นถึงวัตถุประสงค์ของการสอน  ความหมายของเนื้อหาข้อมูล  และการที่ข้อมูลได้รับการแปลความหมายอย่างไร  นอกจากนี้ชแรมม์ยังให้ความสำคัญของการสื่อความหมาย  การรับรู้  และการแปลความหมายของสัญลักษณ์ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนการสอน  ตามลักษณะการสื่อสารของชแรรมม์นี้  การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้อย่างดีมีประสิทธิภาพเฉพาะในส่วนที่ผู้ส่งและผู้รับทั้งสองฝ่ายต่างมีวัฒนธรรม  ประเพณีความเชื่อ  ความรู้  ฯลฯ  ทีสอดคล้องกล้ายคลึงและมีประสงการณ์ร่วมกัน  จึงจะทำให้สามารถเข้าใจความหมายที่สื่อกันนั้นได้ ทั้งนี้เพราะผู้ส่งสามารถเข้ารหัสและผู้รับสามารถถอดรหัสเนื้อหาข่าวสารในขอบข่าวประสบการณ์ที่แต่ละคนมีอยู่ เช่น  ถ้าไม่เคยเรียนภาษารัสเซีย  เราคงไม่สามารถพูดหรือแปลความหมายของภาษารัสเซียได้  ดังนี้เป็นต้น  ถ้าส่วนของประสบการณ์ของทั้งผู้ส่งและผู้รับซ้อนกันเป็นวงกว้างมากเท่าใด  จะทำให้การสื่อสารนั้นเป็นไปได้โดยสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้นเพราะต่างฝ่ายจะเข้าใจสิ่งที่กล่าวถึงนั้นได้เป็นอย่างดี  แต่เมื่อใดที่วงของขอบข่ายประสบการณ์ซ้อนกันน้อยมากหรือไม่ซ้อนกันเลย  แสดงว่าทั้งผู้ส่งและผู้รับแทบจะไม่มีประสบการณ์ร่วมกัน            
จากทฤษฏีการสื่อสารของชแรมม์เนื่องจากในการสื่อสารเราไม่สามารถส่ง  “ความหมาย”  (meaning)  ของข้อมูลไปยังผู้รับได้  สิ่งที่ส่งไปจะเป็นเพียง  “สัญลักษณ์”  (symbol)  ของความหมายนั้น  เช่น  คำพูด  รูปภาพ  เสียงเพลง ท่าทาง  ฯลฯ  ดังนั้น  เมื่อมีการสื่อสารเกิดขึ้น  ผู้ส่งต้องพยายามเข้ารหัสสารซึ่งเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้รับเข้าใจได้โดยง่าย  ซึ่งสารแต่ละสารจะประกอบด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ  มากมาย  โดยที่สัญลักษณ์แต่ละตัวจะบ่งบอกถึง  “สัญญาณ” (signal)  ของบางสิ่งบางอย่างซึ่งจะทราบได้โดยประสบการณ์ของคนเรา  เช่น  เมื่อยกมือขึ้นเป็นสัญญาณของการห้อมหรือเมื่อตะโกนเสียงดังเป็นสัญญาณของความโกรธ  ฯลฯ  ดังนั้น  ผู้ส่งจึงต้องส่งสัญญาณเป็นคำพูด  ภาษาเขียน  ภาษามือ  ฯลฯ  เพื่อถ่ายทอดความหมายของสารที่ต้องการจะส่ง  โดยพยายามเชื่อมโยงเนื้อหาสารเข้ากับประสบการณ์ที่สอดคล้องกันทั้งสองฝ่าย  เพื่อให้ผู้รับสามารถแปลและเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์เหล่านั้นได้โดยง่ายในขอบข่ายประสบการณ์ของตน  ตัวอย่างเช่น  ถ้าผู้ส่งต้องการส่งสารคำว่า  “ดิจิทัล”  ให้ผู้รับที่ยังไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน  ผู้ส่งต้องพยายามใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายด้วยคำพูด  ภาพกราฟิกอุปกร์ระดับดิจิทัล  เช่น  กล้องถ่ายภาพ  หรือลัญลักษณ์อื่นใดก็ตามเพื่อให้ผู้รับสามารถเข้าใจและมีประสบการณ์ร่วมกับผู้ส่งได้มากทีสุดเพื่อเข้าใจความหมายของ  “ดิจิทัล”  ตามที่ผู้ส่งต้องการ
            อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากการเรียนการสอนเป็นการที่ผู้สอนต้องให้ความรู้และขยายขายข่ายประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  หากมีสิ่งใดที่ผู้เรียนยังไม่มีประสบการณ์หรือยังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างเพียงพอ  ผู้สอนจำเป็นต้องพยายามเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ  ให้แก่ผู้เรียนโดยการอภิปราลยร่วมกัน  ให้ผู้เรียนตอบคำถาม  หรือทำการบ้านเพิ่มเติมย่อมจะเป็นการทราบข้อมูลป้อนกลับว่าผู้เรียนเกิดเการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ในเรื่องที่เรียนนั้นอย่างเพียงพอหรือยังและถูกต้องหรือไม่  ถ้าผู้เรียนยับไม่สามารถเข้าใจหรือยังไม่เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องขึ้น  แสดงว่าเกิด    “สิ่งรบกวน”   ของสัญญาณในการสอนนั้น  ผู้สอนต้องพยายามแก้ไขวิธีการสอนโดยอาจใช้สื่อประเภทต่าง ๆ เข้าช่วย  หรือการอภิปลายยกตัวอย่างให้ง่ายขึ้น  รวมถึงการใช้สัญลักษณ์อื่น ๆ  ที่เหมาะกับระดับของผู้เรียนมาช่วยการสอนนั้นจนกว่าผู้เรียนจะมีประสบการณ์ร่วมกับผู้สอนและเกิดการเรียนรู้ที่  ถูกต้องในที่สุด
            จากทฤษฏีการสื่อสารที่กล่าวมาแล้วอาจสรุปได้ว่า  ในการสื่อสารนั้นการที่ผู้ส่งและผู้รับจะสามารถเข้าใจกันได้ดีเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับทักษะ  ทัศนคติ  ความรู้  ระบบสังคมและวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย  ถ้าทั้งผู้ส่งและผู้รับมีสิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้สอดคล้องกันมากจะทำให้การสื่อสารนั้นได้ผลดียิ่งขึ้น  เพาะต่างฝ่ายจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน  และสามารถขจัดอุปสรรค์ในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งและ     ผู้รับออกไปได้
 5.ประโยชน์และโทษของการสื่อสาร
ประโยชน์ของการสื่อสาร
1) การจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายและสื่อสารได้รวดเร็ว การจัดเก็บข้อมูลซึ่งอยู่ในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ สามารถจัดเก็บไว้ในแผ่นบันทึกที่มีความหนาแน่นสูง แผ่นบันทึกแผ่นหนึ่งสามารถบันทึกข้อมูลได้มากกว่า 1 ล้านตัวอักษร สำหรับการสื่อสารข้อมูลนั้น ถ้าข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ได้ด้วยอัตรา 120 ตัวอักษรต่อวินาทีแล้ว จะส่งข้อมูล 200 หน้าได้ในเวลา 40 นาที โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามานั่งป้อนข้อมูลเหล่านั้นซ้ำใหม่อีก 
2) ความถูกต้องของข้อมูล โดยปกติมีการส่งข้อมูลด้วยสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์จากจุดหนึ่งไปยังจุดอื่นด้วยระบบดิจิทัล วิธีการรับส่งนั้นจะมีการตรวจสอบสภาพของข้อมูลหากข้อมูลผิดพลาดก็จะมีการรับรู้และพยายามหาวิธีการแก้ไขให้ข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้อง โดยอาจให้ทำการส่งใหม่ หรือกรณีที่ผิดพลาดไม่มากนักฝ่ายผู้รับอาจใช้โปรแกรมของตนแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้
3) ความเร็วของการทำงาน โดยปกติสัญญาณของไฟฟ้าจะเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสง ทำให้การใช้คอมพิวเตอร์ส่งข้อมูลจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งหรือค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำได้รวดเร็ว ความรวดเร็วของระบบจะทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายอย่างยิ่ง เช่น บริษัทสายการบินทุกแห่งสามารถทราบข้อมูลของทุกเที่ยวบินได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การจองที่นั่งของสายการบินสามารถทำได้ทันที
                4) ต้นทุนประหยัด การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ต่อเข้าหากันเป็นเครือข่ายเพื่อส่งหรือสำเนาข้อมูลทำให้ราคาต้นทุนของการใช้ข้อมูลไม่แพง เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบวิธีอื่น นักคอมพิวเตอร์บางคนสามารถส่งโปรแกรมให้กันและกันผ่านทางสายโทรศัพท์ได้    
 6. การประยุกต์ใช้การสื่อสารในการเรียนการสอน
ประยุกต์ใช้ในงานด้านการศึกษา 
      เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้สำหรับการเรียนการสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่าง สอนด้วยสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องเรียนสมัยใหม่ มีอุปกรณ์วิดีโอโปรเจคเตอร์ (Video Projector)มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบการอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบต่าง ๆ รูปแบบของสื่อที่นำมาใช้ในด้านการเรียนการสอน ก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้ เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน อิเล็กทรอนิกส์บุค วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ ระบบวิดีโอออนดีมานด์ การสืบค้นข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และระบบอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
    - คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นการนำเอาเทคโนโลยี รวมกับการออกแบบโปรแกรมการสอน มาใช้ช่วยสอน ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าบทเรียน CAI ( Computer - Assisted Instruction ) การจัดโปรแกรมการสอน โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในปัจจุบันมักอยู่ในรูปของสื่อประสม (Multimedia) ซึ่งหมายถึงนำเสนอได้ทั้งภาพ ข้อความ เสียง ภาพเคลื่อนไหวฯลฯ โปรแกรมช่วยสอนนี้เหมาะกับการศึกษาด้วยตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบ กับบทเรียนได้ตลอด จนมีผลป้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนรู้ บทเรียนได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจในเนื้อหาวิชาของบทเรียนนั้นๆ
    - การเรียนการสอนโดยใช้เว็บเป็นหลัก เป็นการจัดการเรียน ที่มีสภาพการเรียนต่างไปจากรูปแบบเดิม การเรียนการสอนแบบนี้ อาศัยศักยภาพและความสามารถของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการนำเอาสื่อการเรียนการสอน ที่เป็นเทคโนโลยี มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน ให้เกิดการเรียนรู้ การสืบค้นข้อมูล และเชื่อมโยงเครือข่าย ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกสถานท ี่และทุกเวลา การจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-based Instruction) การฝึกอบรมผ่านเว็บ (Web-based Trainning) การเรียนการสอนผ่านเวิล์ดไวด์เว็บ (www-based Instruction) การสอนผ่านสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) เป็นต้น
    - อิเล็กทรอนิกส์บุค คือการเก็บข้อมูลจำนวนมากด้วยซีดีรอม หนึ่งแผ่นสามารถเก็บข้อมูลตัวอักษรได้มากถึง 600 ล้านตัวอักษร ดังนั้นซีดีรอมหนึ่งแผ่นสามารถเก็บข้อมูลหนังสือ หรือเอกสารได้มากกว่าหนังสือหนึ่งเล่ม และที่สำคัญคือการใช้กับคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถเรียกค้นหาข้อมูลภายในซีดีรอม ได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ดัชนี สืบค้นหรือสารบัญเรื่อง ซีดีรอมจึงเป็นสื่อที่มีบทบาทต่อการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตหนังสือต่าง ๆ จะจัดเก็บอยู่ในรูปซีดีรอม และเรียกอ่านด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่าอิเล็กทรอนิกส์บุค ซีดีรอมมีข้อดีคือสามารถจัดเก็บ ข้อมูลในรูปของมัลติมีเดีย และเมื่อนำซีดีรอมหลายแผ่นใส่ไว้ในเครื่องอ่านชุดเดียวกัน ทำให้ซีดีรอมสามารถขยายการเก็บข้อมูลจำนวนมากยิ่งขึ้นได้
  
  - วิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ หมายถึงการประชุมทางจอภาพ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างบุคคล หรือคณะบุคคลที่อยู่ต่างสถานที่ และห่างไกลกันโดยใช้สื่อทางด้านมัลติมีเดีย ที่ให้ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง เสียง และข้อมูลตัวอักษร ในการประชุมเวลาเดียวกัน และเป็นการสื่อสาร 2 ทาง จึงทำให้ ดูเหมือนว่าได้เข้าร่วมประชุมร่วมกันตามปกติ ด้านการศึกษาวิดีโอเทคเลคอนเฟอเรนซ์ ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ผ่านทางจอภาพ โทรทัศน์และเสียง นักเรียนในห้องเรียน ที่อยู่ห่างไกลสามารถเห็นภาพและเสียง ของผู้สอนสามารถเห็นอากับกิริยาของ ผู้สอน เห็นการเคลื่อนไหวและสีหน้าของผู้สอนในขณะเรียน คุณภาพของภาพและเสียง ขึ้นอยู่กับความเร็วของช่องทางการสื่อสาร ที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างสองฝั่งที่มีการประชุมกัน ได้แก่ จอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ ลำโพง ไมโครโฟน กล้อง อุปกรณ์เข้ารหัสและถอดรหัส ผ่านเครือข่ายการสื่อสารความเร็วสูงแบบไอเอสดีเอ็น (ISDN) 
    - ระบบวิดีโอออนดีมานด์ (Video on Demand) เป็นระบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมนำมาใช้ ในหลายประเทศเช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ทำให้ผู้ชมตามบ้านเรือนต่าง ๆ สามารถเลือกรายการ วิดีทัศน์ ที่ตนเองต้องการชมได้โดยเลือกตามรายการ (Menu) และเลือกชมได้ตลอดเวลา วิดีโอออนดีมานด์ เป็นระบบที่มีศูนย์กลาง การเก็บข้อมูลวีดิทัศน์ไว้จำนวนมาก โดยจัดเก็บในรูปแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ (Video Server) เมื่อผู้ใช้ต้องการเลือกชมรายการใด ก็เลือกได้จากฐานข้อมูลที่ต้องการ ระบบวิดีโอ ออนดีมานด์จึงเป็นระบบที่จะนำมาใช้ ในเรื่องการเรียนการสอนทางไกลได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียน ในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนหรือ สนใจได้
    - การสืบค้นข้อมูล (Search Engine) ปัจจุบันได้มีการกล่าวถึงระบบการสืบค้นข้อมูลกันมาก แม้แต่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็มีการประยุกต์ใช้ไฮเปอร์เท็กซ์ในการสืบค้นข้อมูล จนมีโปรโตคอลชนิดพิเศษที่ใช้กัน คือ World Wide Web หรือเรียกว่า www. โดยผู้ใช้สามารถเรียกใช้โปรโตคอล http เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบไฮเปอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ไฮเปอร์เท็กซ์มีลักษณะเป็นแบบมัลติมีเดีย เพราะสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เก็บได้ทั้งภาพ เสียง และตัวอักษร มีระบบการเรียกค้นที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้โครงสร้างดัชนีแบบลำดับชั้นภูมิ โดยทั่วไป ไฮเปอร์เท็กซ์จะเป็นฐานข้อมูลที่มีดัชนี สืบค้นแบบเดินหน้า ถอยหลัง และบันทึกร่องรอยของการสืบค้นไว้ โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างไฮเปอร์เท็กซ์มีเป็นจำนวนมาก ส่วนโปรแกรมที่มีชื่อเสียงได้แก่ HTML Compossor FrontPage Marcromedia DreaWeaver เป็นต้น ปัจจุบันเราใช้วิธีการสืบค้นข้อมูล เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบในการทำเอกสารรายงาน ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว    
    - อินเทอร์เน็ต คือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายย่อย และเครือข่ายใหญ่สลับซับซ้อนมากมาย เชื่อมต่อกันมากกว่า 300 ล้านเครื่องในปัจจุบัน โดยใช้ในการติดต่อสื่อสาร ข้อความรูปภาพ เสียงและอื่น ๆ โดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่มีผู้ใช้งานกระจายกันอยู่ทั่วโลก ปัจจุบันได้มีการนำระบบอินเทอร์เน็ต เข้ามาใช้ในวงการศึกษากันทั่วโลก ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก
   ประยุกต์ใช้ในงานทะเบียนของสถานศึกษา 
    - งานรับมอบตัว ทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานที่นักศึกษานำมารายงานตัว จากนั้นก็จัดเก็บประวัติภูมิหลังนักศึกษา เช่น ภูมิลำเนา บิดามารดา ประวัติการศึกษา ทุนการศึกษา ไว้ในแฟ้มเอกสารข้อมูลประวัตินักศึกษา
    - งานทะเบียนเรียนรายวิชา ทำหน้าที่จัดรายวิชาที่ต้องเรียนให้กั บนักศึกษา ในแต่ละภาคเรียนทุกชั้นปี ตามแผนการเรียน ของแต่ละแผนก แล้วจัดเก็บไว้ในแฟ้มข้อมูลผลการเรียน
    - งานประมวลผลการเรียน ทำหน้าที่นำผลการเรียนจากอาจารย์ผู้สอนมาประมวลในแต่ละภาคเรียน จากนั้นก็จัดเก็บไว้ในแฟ้มเอกสารข้อมูลผลการเรียน และแจ้งผลการเรียนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
    - งานตรวจสอบผู้จบการศึกษา ทำหน้าที่ตรวจสอบรายวิชา และผลการเรียน ที่นักศึกษาเรียนตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งจบ หลักสูตร จากแฟ้มเอกสาร ข้อมูลผลการเรียน ว่าผ่านเกณฑ์การจบหรือไม่
    - งานส่งนักศึกษาฝึกงาน ทำหน้าที่หาข้อมูลจากสถานที่ฝึกงาน ในแต่ละแห่งว่าสามารถรองรับจำนวน นักศึกษาที่จะฝึกงาน ในรายวิชาต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนเท่าใด จากนั้นก็จัดนักศึกษา ออกฝึกงานตามรายวิชา ให้สอดคล้องกับจำนวนที่สถานประกอบ การต้องการ
ประยุกต์ใช้ในห้างสรรพสินค้าและสาขาย่อย 
          เนื่องจากห้างสรรพสินค้า เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มีอยู่หลายสาขาที่จัดจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ มีซัพพลายเออร์กว่า พันราย และมีพนักงานอยู่หลายพันคน ดังนั้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการตัดสินใจต้องทำอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ดังนั้นการที่ต้องใช้เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องอ่านบาร์โค้ดจึงมีความจำเป็น ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นฝ่ายสนับสนุน สิ่งสำคัญที่สุดคือ  เราต้องให้ความมั่นใจได้ว่า ระบบจะต้องทำงานได้ไม่มีปัญหา ขัดข้อง ปัจจุบันระบบการเชื่อมต่อห้างสรรพสินค้าจะเป็นแบบสอง ลักษณะคือในต่างจังหวัดจะใช้การเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม ในกรุงเทพจะใช้การเชื่อมต่อแบบออนไลน์ ซึ่งจะมีการรับส่งข้อมูลกันทุกวัน ในส่วนของไอที นอกจากจะต้องทำให้ระบบ สามารถทำงานได้ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องมั่นใจด้วยว่าข้อมูลที่รับส่งกันนั้นมีความถูกต้อง ซึ่งในแต่ละวันมีข้อมูลมาก ที่จะต้องผ่านการประมวลผลให้แก่ผู้บริหารเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลยอดขายข้อมูลสต็อกและข้อมูลต่างๆ ที่ ผู้บริหารต้องการ
ประยุกต์ใช้ในงานสาธารณสุขและการแพทย์ 
          เทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการนำมาใช้ในการพัฒนา ด้านสาธารณสุขอย่างกว้างขวาง และทำให้งานด้าน สาธารณสุข เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับระบบการบริหารงาน และนำเทคโนโลยี สารสนเทศมาใช้ในงานต่างๆ ดังนี้
    - ด้านการลงทะเบียนผู้ป่วย ตั้งแต่เริ่มทำบัตร จ่ายยา เก็บเงิน
    - การสนับสนุนการรักษาพยาบาล โดยการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล ต่างๆ เข้าด้วยกัน สามารถสร้างเครือข่ายข้อมูลทางการแพทย์ แลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ป่วย
    - สามารถให้คำปรึกษาทางไกล โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชำนาญ เทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นหน้า หรือท่าทางของผู้ป่วยได้ ช่วยให้ส่งข้อมูลที่เป็นเอกสาร
    - เทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยในการ ให้ความรู้แก่ประชาชนของแพทย์ หรือหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ได้ผลขึ้น โดยสามารถใช้สื่อต่างๆ เช่นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวมีเสียงและอื่นๆ เป็นต้น
    - เทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยให้ผู้บริหารสามารถกำหนดนโยบาย และติดตามกำกับการดำเนินงานตามนโยบายได้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องฉับไว และข้อมูลที่จำป็น ทั้งนี้อาจใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวเก็บข้อมูลต่างๆ ทำให้การบริหารเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
    - ในด้านการให้ความรู้หรือการเรียน การสอนทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะดาวเทียม จะช่วยให้การเรียนการสอนทางไกล ทางด้านการแพทย์และสาธารณะสุข เป็นไปได้มากขึ้นประชาชนสามารถเรียนรู้พร้อมกัน ได้ทั่วประเทศและ ยังสามารถโต้ตอบหรือถามคำถามได้ด้วย
ประยุกต์ใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
          กลุ่มนักวิทยาสตร์ วิศวกรที่ต้องการศึกษาพฤติกรรมบางอย่างของสิ่งมีชีวต รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่นศึกษาการกระจายถิ่นที่อยู่ของนก การกระจายของแบคทีเรีย การสร้างอาณาจักรของมด ผึ้ง ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าต่าง ๆ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตลอดจนระบบนิเวศวิทยา ความสนใจในการจำลองความเป็นอยู่ของ สิ่งมีชีวิตได้มีมานานแล้ว เริ่มตั้งแต่ครั้ง จอห์น พอยเมน ผู้เป็นนักคณิตศาสตร์ เสนอแนวคิดการทำให้เครื่องจักรทำงานโดยอัตโนมัติภายใต้โปรแกรม ซึ่งเป็นรากฐานของเครื่องคอมพิวเตอร์ จนถึงปัจจุบันเกมแห่งชีวิตจึงเกิดขึ้น
ประยุกต์ใช้ในงานด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม 
          เทคโนโลยีของการสื่อสารและโทรคมนาคมในปัจจุบันก้าวไกลไปมาก มีบริการมากมายที่ทันสมัยและตอบรับกับการ นำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ตัวอย่างการใช้โทรศัพท์ในปัจจุบันนี้ก็มิไดมีไว้เพียงสำหรับคุยสนทนาเพียงอย่างเดียว อีกต่อไป แต่มันสามารถช่วยงานได้มากขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลและการเปิดให้บริการของบริษัท มีติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียม ทั้งภาพและเสียง มีโทรศัพท์มือถือรุ่นต่าง ๆ ออกมามากมาย พัฒนาทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เช่นเทเลคอม เอเชีย คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้วางแผนการก่อสร้าง และติดตั้งขยายบริการโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงการซ่อมบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 25 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการในปัจจุบัน
ประยุกต์ใช้ในงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ 
        การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการออกแบบ ได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบ ( CAD : Computer Aided Design) ออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบสินค้า และสามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยควบคุมกระบวนการผลิต ( CAM : Computer Aided Menufacturing ) เช่นควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ลดแรงงาน โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ทำงาน
   
ประยุกต์ใช้ในสำนักงานภาครัฐและเอกชน 
          ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ มากมาย เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน การเกิด การตาย การเสียภาษีอากร การทำใบอนุญาตขับรถยนต์ การจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ การประมวลผลคะแนนเลือกตั้ง ฯลฯ เป็นต้น งานเหล่านี้ได้มีการนำระบบสำนักงานอัตโนมัติเข้ามาใช้ เพื่อทำให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และยังตอบสนองกับการบริหารยุคใหม่ที่ต้องใช้ข้อมูลเป็นหลักในการบริหารจัดการ
          กล่าวโดยสรุปคือ ได้มีการนำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ เกือบทุกวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปของบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษา ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในหน่วยงานด้านการศึกษาก็มีความตื่นตัวและเปิดทำการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าว ทั้งในระดับ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา และเป็นสาขาวิชาที่มีนักศึกษา ให้ความสนใจ กันมากเนื่องจากยังมีตลาดแรงงานรองรับมากนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น